ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กิ่งแก้ว สุวรรณศีรี

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กของครูช่วงชั้นที่ 1-2 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐมเขต 1.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 151.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1.ระดับความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็ก ความตระหนักถึงบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็ก การได้รับการสนับสนุนทางสังคม และพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กของครูช่วงชั้นที่ 1-2 2.เปรียบเทียบพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กของครูช่วงชั้นที่ 1-2 จำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาในการทำงาน ประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมด้านสุขภาพจิตเด็ก 3.ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กของครูช่วงชั้นที่ 1-2 กลุ่มตัวอย่างเป็นครูช่วงชั้นที่ 1-2 จำนวน 293 คน สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบวัดความรู้ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ(%)ค่าเฉลี่ย(x)และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มใช้การทดสอบ t-test การทดสอบ F-test ตรวจสอบคู่ด้วยวิธีของ Scheffe’s และวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่นำเข้าสมการ (Stepwise Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1.ครูช่วงชั้นที่ 1-2 มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กอยู่ในระดับปานกลาง 2.ครูช่วงชั้นที่ 1-2 มีความตระหนักถึงบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็ก ทั้งรายด้านได้แก่ ด้านการพัฒนาการเรียนการสอน ด้านการจัดสิ่ง แวดล้อมในโรงเรียน ด้านการจัดกิจกรรมนักเรียน ด้านการแนะแนวและการให้การปรึกษา และโดยรวมอยู่ในระดับมาก 3.ครูช่วงชั้นที่ 1-2 ได้รับการสนับสนุนทางสังคม ด้านอารมณ์ ด้านข้อมูลข่างสาร และโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านงบประมาณอยู่ในระดับน้อย 4.ครูช่วงชั้นที่ 1-2 มีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็ก ทั้งรายด้านได้ แก่ ด้านการพัฒนาการเรียน การสอน ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ด้านการจัดกิจกรรมนักเรียน และโดยรวมอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการแนะแนวและการให้การปรึกษา อยู่ในระดับปานกลาง 5.ครูช่วงชั้นที่ 1-2 ที่มีระดับการศึกษา และประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมด้านสุขภาพจิตเด็กต่างกัน มีพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 6.ความตระหนักถึงบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็ก และการได้รับการสนับสนุนทางสังคมสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กของครูช่วงชั้นที่ 1-2 ทั้งรายด้านได้แก่ ด้านการพัฒนาการเรียนการสอน ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ด้านการจัดกิจกรรมนักเรียน ด้านการแนะแนวและการให้การปรึกษา และโดยรวมได้ร้อยละ 12.6,29.2,20.2,30.3 และ 28.7 ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

Keywords: สุขภาพจิต, เด็ก, พฤติกรรม, การส่งเสริมสุขภาพ, การพัฒนา, ครู, นครปฐม, ครูช่วงชั้นที่ 1-2

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: มหาวิทยาลัยศิลปากร

Code: 2006000141

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -