ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กลุ่มงานพัฒนาสุขภาพจิตชุมชน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวชจังหวัดยโสธร.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 155.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล สถานการณ์การเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของจังหวัดยโสธรมีแนวโน้มสูงขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลการให้บริการของสถานบริการสาธารณสุข ปี 2545-2547 โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคจิต ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้เป็นผู้ที่เป็นปัญหาสำหรับญาติและชุมชน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่แสดงออก การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นบทบาทหนึ่งซึ่งทีมสุขภาพจิตเห็นความสำคัญ จึงได้จัดกิจกรรมการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผู้ป่วยที่จำหน่ายจากตึกผู้ป่วยจิตเวชชาย 6 ในปีงบประมาณ 2548 ผู้ป่วยที่จำหน่ายทั้งหมด 132 ราย ที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนโดยกำหนดข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยที่ต้องติดตามเยี่ยมในชุมชนประกอบด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับการปลดโซ่ตรวน ผู้ป่วยที่ขาดยาเป็นประจำ ผู้ป่วยที่กลับมารับการรักษาซ้ำภายใน 1 เดือน ผู้ป่วยมีประวัติพฤติกรรมรุนแรงในชุมชน การดำเนินการ ติดตามเยี่ยมผู้ป่วย 3 ครั้ง หลังจำหน่าย, เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบบันทึกกิจกรรมการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน แบบประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับการติดตาม/การเตรียมชุมชนโดย การสัมภาษณ์ การสังเกต และการสนทนากลุ่ม, การวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ ร้อยละ สรุปผลการศึกษา พบว่า เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน จำนวน 49 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.12 ปัญหาที่พบ ประกอบด้วย ปัญหาด้านการรับประทานยา จำนวน 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 63.27 ปัญหาด้านสังคม จำนวน 4 รายคิดเป็นร้อยละ 8.16 ปัญหาด้านการรับประทานยาและปัญหาด้านสังคม จำนวน 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.45 ปัญหาอื่นๆ จำนวน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.04 ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการติดตามเยี่ยม/เตรียมชุมชนของญาติผู้ป่วยและชุมชน พบว่าครอบครัว และชุมชนมีความรู้สึกกังวลใจที่ต้องดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับมาอยู่ที่บ้าน ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 55.00 การให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยทำให้มั่นใจในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น ในระดับปานกลางคิดเป็นร้อยละ 56.67 การดูแลผู้ป่วยเป็นหน้าที่หลักของครอบครัวและชุมชนร่วมกัน ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 61.67 ผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ต้องช่วยกันดูแลช่วยเหลือ ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 63.34 รู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชน ความคิดเห็นในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 55.00 และมีความคิดเห็นว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการติดตามเยี่ยมบ้านและชุมชน ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 58.33 ข้อเสนอแนะ 1.ควรมีการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยจิตเวชอย่างต่อเนื่อง และจัดทำคู่มือการเยี่ยมบ้าน 2.สร้างเครือข่ายในการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การดูแล, เยี่ยมบ้าน, ยโสธร, จิตเวชชาย, พฤติกรรมรุนแรง, ชุมชน, จิตเวชชุมชน, ครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 2006000142

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -