ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

ชื่อเรื่อง/Title: การเตรียมครอบครัวและชุมชนเพื่อรับการจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน กรณีศึกษา.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 139-140.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การเจ็บป่วยทางจิต ก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่าง ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชนหรือสังคมส่วนรวม ทั้งในด้านการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ภาวะสุขภาพจิตของผู้ดูแลหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ปฏิเสธการเจ็บป่วย ไม่ยอมกินยา ญาติอาจรู้สึกโกรธหงุดหงิด เบื่อหน่าย ที่ผู้ป่วยไม่สนใจดูแลตนเอง จนส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ในด้านเศรษฐกิจนั้น หากผู้ป่วยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ต้องพึงพาญาติตลอด ญาติอาจรู้สึกเป็นภาวะที่ต้องดูแลผู้ป่วยและเมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าว ไม่เฉพาะแต่กับญาติเท่านั้น หากกระทบถึงชุมชนด้วยแล้ว จะส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยกับครอบครัวและชุมชน เกิดการทอดทิ้ง รังเกียจ ไม่ยอมรับผู้ป่วย และส่งผลย้อนกลับไปถึงผู้ป่วยจนผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแล ถูกละเลย อันเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ และต้องกลับมารักษาซ้ำ การเตรียมครอบครัวและชุมชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ ทั้งนี้ภายใต้หลักการของกระบวนการสังคมสงเคราะห์จิตเวชชุมชน ในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถช่วยเหลือตนเองได้ หลักการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน (Self Care and Community Care) เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเกิดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเอง ได้อย่างเหมาะสม การสนับสนุนให้ครอบครัวและชุมชนมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ตามแนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน (People Participation) และการเป็นปากเป็นเสียงแทน (Advocacy) เพื่อลดตราบาปและส่งเสริมสิทธิของผู้ป่วยในการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมของครอบครัวและชุมชนในการรับผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน 2. เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและลดตราบาปที่ครอบครัวและชุมชนมีต่อผู้ป่วย 3. เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน ในการดำเนินชีวิต อยู่ร่วมกัน ขั้นตอนการดำเนินงาน 1. ค้นหาปัญหาเบื้องต้น 2. ประสานทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาลเพื่อประเมินและวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนวางแผนการเตรียมครอบครัวและชุมชน 3. ประสานเครือข่ายผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตระดับ สสจ. สสอ. รพช. สอ. ในพื้นที่ ประสานครอบครัวและแกนนำในชุมชน นัด วัน เวลา สถานที่ 4. ดำเนินการเตรียมครอบครัวและชุมชนโดยมีขั้นตอนดังนี้ 4.1 สร้างสัมพันธ์ภาพ 4.2 ค้นหาปัญหา ทั้งที่เป็นปัญหาของผู้ป่วยและปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและชุมชน 4.3 ประเมินความรุนแรง จัดลำดับความสำคัญของปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา เช่น ปัญหาจากการดูแล ภาวะอารมณ์ จิตใจของญาติที่มี ทัศนคติ ความเข้าใจ ความคิดเห็นตลอดจนความคาดหวังของญาติและชุมชนที่มีต่อผู้ป่วย การเจ็บป่วยและการดูแลรักษา 4.4 ประเมินความคิดเห็นต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ป่วย 4.5 ปรับเปลี่ยนทัศนคติของครอบครัวและชุมชน เพื่อลดปฏิกิริยาทางจิตใจ และลดตราบาปที่ผู้ป่วยได้รับ 4.6 ให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อการเจ็บป่วย การดูแลรักษา 4.7 หาแนวทางในการดูแลผู้ป่วย ร่วมกับครอบครัวและชุมชน 4.8 สนับสนุนและส่งต่อเครือข่ายเพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 4.9 ประเมินและติดตามผลการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ผลที่เกิดขึ้นจากการเตรียมครอบครัวและชุมชน 1.ปฏิกิริยาทางอารมณ์ จิตใจของครอบครัว และชุมชนลดลง 2.ลดตราบาปที่มีต่อผู้ป่วย จนได้รับการยอมรับและมีโอกาสในการกลับไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชน 3.เกิดความเห็นอก เห็นใจต่อกัน ระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน 4.ครอบครัวและชุมชนมีความรู้ ทัศนคติ ในการดูแลผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ในชุมชนได้นานขึ้นโดยไม่กลับมารักษาซ้ำ

Keywords: ภาวะสุขภาพจิตของผู้ดูแล, ครอบครัว, ชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช, การดำเนินชีวิต, ภาวะสุขภาพจิต, ผู้ดูแล, การดูแล, ญาติ, สุขภาพจิตผู้ดูแล, ครอบครัวผู้ป่วยจิตเวช, ชุมชน, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.

Code: 2006000143

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -