ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธัญหทัย จันทะโยธา.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความรู้ในการดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองในชุมชนจากการสอนให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 102.

รายละเอียด / Details:

จากการเยี่ยมบ้านบุคคลปัญญาอ่อนในชุมชน ของพยาบาลกลุ่มงานสุขภาพจิตชุมชน สถาบันราชานุกูล พบว่า บุคคลปัญญาอ่อนหลายคนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น (8-15) ปี แสดงพฤติกรรมทางเพศด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองต่อหน้าผู้อื่น แต่งตัวไม่เรียบร้อย เช่น ไม่ใส่เสื้อผ้าเดินทั้งในและนอกบ้าน บางรายมีพฤติกรรมเลียนแบบเพศตรงข้าม ซึ่งผู้ปกครองบางรายไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและบางรายเกิดความวิตกกังวลไม่รู้จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ดังนั้นเพื่อให้ผู้ปกครองเกิดความตระหนักและได้แนวทางในการดูแลเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อน จึงได้นำวิธีการสอนให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจมาใช้และทำการศึกษาผลที่ได้โดยศึกษาและเปรียบเทียบความรู้ในการดูแลและการให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองในชุมชนก่อนและหลังการสอนให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเป็นผู้ปกครองบุคคลปัญญาอ่อนในชุมชน จำนวน 5 คน เครื่องมือในการทดลองคือการสอนให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ เครื่องมือรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามความรู้ในการดูแลและการให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อน ทำการทดลองและเก็บข้อมูลเดือน มิถุนายน พุทธศักราช 2547 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ จำนวน มัธยฐานส่วนเบี่ยงเบนวอไทล์ และ Wilcoxon Signed Rank test. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ดังนี้ 1. ความรู้ในการดูแลเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองในชุมชนก่อนและหลังได้รับการสอนให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจอยู่ในระดับดี และระดับดีมาก ตามลำดับ 2. การให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองในชุมชนก่อนและหลังได้รับการสอน ให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจอยู่ในระดับพอใช้ และระดับปานกลาง ตามลำดับ 3. ความรู้ในการดูแลเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองในชุมชนหลังจากได้รับการสอนให้ คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจ สูงขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. การให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองในชุมชนหลังจากได้รับการสอนให้คำปรึกษาแบบสร้าง แรงจูงใจ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ข้อเสนอแนะในการวิจัยคือ การให้คำปรึกษาแบบสร้างแรงจูงใจมีผลต่อความรู้ในการดูแลและการให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษาแก่บุคคลปัญญาอ่อนของผู้ปกครองในชุมชน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้นควรมี การสอนโปรแกรมดังกล่าวให้เพิ่มจำนวนครั้งมากขึ้น

Keywords: บุคคลปัญญาอ่อน, เพศศึกษา, การดูแล, ความรู้, พฤติกรรม, สร้างแรงจูงใจ, ให้การปรึกษา, เยี่ยมบ้าน, ปัญญาอ่อน, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มงานสุขภาพจิตชุมชน สถาบันราชานุกูล

Code: 2006000144

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -