ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุญชัย นวมงคลวัฒนา

ชื่อเรื่อง/Title: ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชต่อเนื่องในกรุงเทพมหานคร.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 65.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากการประเมินสภาพปัญหาของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มารับการรักษา (66%) ในแผนกผู้ป่วยในและนอกเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทเรื้อรัง ซึ่งต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นอาการของผู้ป่วยจะกำเริบส่งผลกระทบต่อทัศนคติของญาติ ผู้ดูแลและชุมชน ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ คือระบบที่ตรึงผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้นานที่สุดโดยมีอาการทางจิตสงบและมีคุณภาพชีวิตที่ดี วัตถุประสงค์ ของการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเภทต่อเนื่องในชุมชน มุ่งดำเนินการในกรุงเทพมหานคร เนื่องจาก 70 % ของผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยเน้นในกลุ่มจิตเภทเรื้อรังประเภท First episode Schizophrenia และกลุ่มที่กลับมารับการรักษาซ้ำภายใน 28 วัน โดยส่งต่อผู้ป่วยสู่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ทั้ง 66 ศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เพื่อการดูแลอาการ ป้องกันการขาดยาและการรักษาต่อเนื่อง วิธีการดำเนินงาน 1. ประชุมประเมินสถานการณ์ระหว่างพยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุขและของสถาบันฯ พบว่ายังไม่มีการพัฒนาระบบการตามเยี่ยมผู้ป่วยจิตเวชที่บ้านอย่างเป็นระบบและขาดการประสานงานกันระหว่างสถาบันฯและ ศูนย์บริการสาธารณสุข อีกทั้งขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ 2. ประชุมสัมนาสร้างทัศนคติและสร้างชุมชนในฝัน โดยละลายพฤติกรรม และระดมความคิด พบว่าพยาบาลศูนย์บริการสาธารณสุขมีทัศนคติที่ดีขึ้นต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ต้องการความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน รวมถึงระบบให้ความช่วยเหลือ 3. ประชุมสร้างระบบการทำงานและระบบให้ความช่วยเหลือร่วมกัน เกิดรูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชร่วมกันในด้านระบบส่งต่อผู้ป่วยจากสถาบันสู่ชุมชน การดูแลประเมินผู้ป่วยที่บ้าน และเกิดระบบพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษาชัดเจนเมื่อพบปัญหาในการดูแล รวมถึงช่องทางในการจัดการผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยทำงานในลักษณะทีมสหวิชาชีพของสถาบันฯและทีมพยาบาลเยี่ยมบ้านของศูนย์บริการสาธารณสุข โครงการนี้เริ่มดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 20 มีนาคม 2549 จากการเก็บข้อมูลนำร่องพบว่า อัตราการกลับมารักษาซ้ำมี 1 คน ในจำนวน 16 คน (6.25%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเป็นภาระต่อญาติลดลง ซึ่งต้องติดตามผลในระยะยาวต่อไป

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การดูแล, สุขภาพจิต, ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง, ทัศนคติ, คุณภาพชีวิต, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, จิตเภท, สหวิชาชีพ, การเยี่ยมบ้าน, ระบบพี่เลี้ยง, ให้การปรึกษา, การพยาบาลจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มงานจิตเวชและสุขภาพจิตชุมชน สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 2006000152

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -