ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กลุ่มงานพัฒนาสุขภาพจิตชุมชน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การเตรียมความพร้อมของชุมชนก่อนจำหน่ายผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 64.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในปีงบประมาณ 2547 มีผู้ป่วยที่จำหน่ายไม่ได้ตามระบบ จำนวน 124 คน และเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน จำนวน 38 คน ที่ได้รับการรักษาจนอาการทางจิตทุเลา มีญาติ มีที่อยู่ชัดเจน แต่ญาติไม่มารับผู้ป่วยกลับ เนื่องจากผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคม เช่น ก้าวร้าว ทำลายทรัพย์สิน รบกวนผู้อื่น ขโมยของ เป็นต้น แม้ผู้ป่วยจะอาการทางจิตสงบก็ตาม แต่สถานที่ที่ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่ดีที่สุด คือ บ้านและชุมชนของเขา โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จึงได้พัฒนาแนวทางการจำหน่ายผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน โดยการเตรียมความพร้อมของชุมชนก่อนจำหน่าย เพื่อให้ชุมชนเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยหลังจำหน่าย วัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนให้มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเมื่อกลับไปอยู่ในชุมชนขอบเขตการวิจัย ศึกษาในชุมชนของผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อน คือ ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเป็นอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่นและทรัพย์สิน รบกวนชุมชน ขโมยของ ทำลายทรัพย์สินผู้อื่น ไม่มีผู้ดูแลหลัก ชุมชนปฏิเสธผู้ป่วย และเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตสงบ มีญาติมีที่อยู่ชัดเจนในปีงบประมาณ 2548 ชุมชนประกอบด้วย แกนนำชุมชน เพื่อนบ้านผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และได้มีการทบทวนปรับปรุงพัฒนาและสรุปแนวทางการเตรียมความพร้อมของชุมชนในแต่ละชุมชน ระเบียบวิธีวิจัย การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการโดยศึกษาในชุมชนของผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซ้ำซ้อนทุกรายที่จำหน่ายไม่ได้ตามระบบของโรงพยาบาล ในปีงบประมาณ 2548 จำนวน 64 ชุมชน เก็บข้อมูลโดยการเตรียมความพร้อมของชุมชนด้วยการสนทนากลุ่มกับแกนนำชุมชน เพื่อนบ้าน ญาติ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อแนวทางการจำหน่ายและการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยแต่ละราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ตัวผู้วิจัย แนวทางการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา สรุปผลการวิจัย ผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนที่อาการทางจิตทุเลา มีญาติ มีที่อยู่ชัดเจนที่จำหน่ายไม่ได้ในปีงบประมาณ 2548 ได้รับการเตรียมความพร้อมของชุมชนทั้งหมด 64 ราย จำหน่ายได้ 61 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.31 จำหน่ายไม่ได้ 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 เนื่องจากไม่มีญาติสายตรงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น และได้พัฒนาเป็นคู่มือการเตรียมชุมชนเพื่อใช้เป็นแนวทางการเตรียมชุมชนต่อไป ข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการศึกษาการเตรียมความพร้อมของญาติก่อนจำหน่ายผู้ป่วย 2. ควรมีการศึกษาและมีส่วนร่วมของผู้ป่วย ญาติ แกนนำชุมชน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 3.การทำคู่มือการเตรียมชุมชนไปใช้ควรปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถานที่

Keywords: สุขภาพจิตชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช, การดูแลผู้ป่วยจิตเวช, พฤติกรรมก้าวร้าว, พฤติกรรมรุนแรง, แนวทางการจำหน่ายผู้ป่วย, การบำบัดรักษา, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

Code: 2006000156

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -