ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นงนุช แต่งสิงห์ตรง, สุดคนึง ปลั่งพงษ์พันธ์.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการใช้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท : การศึกษานำร่องในโรงพยาบาลศรีธัญญา.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 230.

รายละเอียด / Details:

การจัดการผู้ป่วยรายกรณีเป็นรูปแบบการดูแลที่เน้นให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดที่ตัวผู้ป่วยผสมผสานความสามารถของทีมสหสาขาวิชาชีพในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบโดยใช้แผนการดูแลผู้ป่วยบอกทิศทางของการดูแล และมีผู้จัดการผู้ป่วยรายกรณีเป็นผู้ประสานการดูแลตั้งแต่แรกรับจนกระทั่งจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล หอผู้ป่วยพิเศษชาย 9 เห็นเป็นโอกาสและเป็นทางเลือกที่ดีในการจัดบริการที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการเรื้อรังและมีประมาณครึ่งหนึ่งของโรคจิตเวชทั้งหมดในโรงพยาบาลศรีธัญญา จึงทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภทในหอผู้ป่วยจิตเวชพิเศษชาย 9 ของ โรงพยาบาลศรีธัญญา ดำเนินการวิจัยด้วยวิธีการพัฒนารูปแบบเป็น 2 ระยะด้วยกัน คือระยะที่ 1 เป็นการสร้างรูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีในการดูแลผู้ป่ายโรคจิตเภท โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องร่วมกับผลการประชุมปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 ท่าน 4 ครั้ง จากนั้นจึงสังเคราะห์โครงสร้างของรูปแบบตามทฤษฎีและแนวคิดการจัดการรายกรณี ประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญยกร่างรูปแบบฯ และดำเนินการตรวจสอบความตรงของรูปแบบฯโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชาชีพจำนวน 8ท่าน ระยะที่ 2 เป็นการทดลองใช้รูปแบบฯในพื้นที่โรงพยาบาลศรีธัญญา กลุ่มตัวอย่างมี 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท จำนวน 10 คน กลุ่มผู้ดูแลในครอบครัวจำนวน 10 คน และกลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จำนวน 5 คน เครื่องมือรวบรวมข้อมูล คือ แบบบันทึกการปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วย แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล และแบบประเมินความคิดเห็นของพยาบาลต่อบทบาท/กิจกรรมของผู้จัดการรายกรณี ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ได้รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณีในกรดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท 1 รูปแบบเป็นรูปแบบ Primary Case Mangement มีจุดเน้นการดำเนินงานที่เป็น Unit- based มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ส่วน คือ 1 ) แนวคิดทฤษฎีและการนำสู่การปฏิบัติการจัดการผู้ป่วยรายกรณี 2 ) กระบวนการทำงานและบทบาทหน้าที่ 3 ) เครื่องมือที่สำคัญของการจัดการผู้ป่วยรายกรณี 4 ) เครื่องมือที่ใช้ประกอบแผนการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท 5 ) เครื่องมือที่ใช้ประเมินผลการจัดการผู้ป่วยรายกรณี 2. ภายหลังการทดลองใช้รูปแบบฯ พบว่า 1 ) ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเองครบถ้วนทุกด้านได้อย่างเหมาะสมตามเป้าหมายร้อยละ 100 2 ) ผู้ป่วยมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 85 3 ) ผู้ดูแลในครอบครัวมีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 98และ 4 ) ความคิดเห็นของพยาบาลต่อบทบาท/กิจกรรมของผู้จดการรายกรณีมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 100 ข้อเสนอแนะ ควรขยายผลรูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณี จาก Unit based Case Management เป็น Hospital based Case Management เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างเป็นระบบทั้งองค์กร และเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมโยงระบบการดูแลผู้ป่วยกับเครือข่ายในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยอยู่ในชุมชนได้มากขึ้น

Keywords: โรคจิตเภท, การดูแล, ครอบครัว, ความพึงพอใจ, รูปแบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณี, โรงพยาบาลศรีธัญญา, ทีมสหวิชาชีพ, การพยาบาลจิตเวช, บริการจิตเวช, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, case management

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา

Code: 2006000157

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -