ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปัทมา ศิริเวช, ประเทือง ลออสุวรรณ, อังคณา ดวงรัตน์, ปิ่นรัฐ ปานถาวร.

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการนำร่องสุขภาพจิตโรงเรียนย้อนหลัง 3 ปี : พ.ศ. 2546-2548.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 170.

รายละเอียด / Details:

งานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากการทำงานสุขภาพจิตโรงเรียน ประจำปี พ.ศ. 2546-2548 ในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวนทั้งหมดทั้งสิ้น 117 คน ซึ่งได้รับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยใช้แบบประเมินก่อนและหลังทำกิจกรรมด้วยเครื่องมือ แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็กอายุ 6-11ปี และแบบสอบถามภาวะซึมเศร้าในเด็ก โดยกลุ่มงานจิตเวชและสุขภาพจิตชุมชนร่วมกับครูแนะแนวและครูประจำชั้นของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย สถิติที่ใช้ประกอบด้วย จำนวนร้อยละ ความถี่ ผลการศึกษา พบว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ที่อยู่ในเกณฑ์ปกติซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13.67 โดยกลุ่มนักเรียนที่ถูกประเมินว่าเป็นผู้มีความฉลาดทางอารมณ์ต่ำกว่าเกณฑ์มีค่าร้อยละ 85.47 หลังให้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พบว่ามีจำนวนนักเรียนกลุ่มที่มีความฉลาดทางอารมณ์ต่ำกว่าเกณฑ์เหลือจำนวนร้อยละ 60.68 ซึ่งลดลงร้อยละ 51.86 และเมื่อวัดภาวะซึมเศร้า พบว่า นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้ามีอยู่ร้อยละ 30.62 เมื่อให้กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน พบว่า มีจำนวนนักเรียนเหลืออยู่ 30.76 ซึ่งลดลงร้อยละ 9.72 สำหรับนักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้าพบว่ามีค่าคะแนนในเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์ในประเด็นของความสุขสงบทางใจ แรงจูงใจ และเห็นใจผู้อื่นอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยมีค่าร้อยละ 78.72, 63.82 และ, 55.31 ตามลำดับ แต่เมื่อนำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเข้าไปใช้ พบว่า มีจำนวนนักเรียนที่มีคะแนนด้านสุขสงบทางใจในเกณฑ์ต่ำเหลืออยู่ร้อยละ 23.40 ส่วนแรงจูงใจมีจำนวนร้อยละ 31.91 และเห็นใจผู้อื่นมีจำนวนร้อยละ 31.91 เช่นกัน ซึ่งลดลงร้อยละ 43.55, 19.79 และ 12.94 ตามลำดับ สรุปผลการวิจัย จากการนำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเข้าไปดำเนินการในครั้งมีผลต่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียน ซึ่งจากการประเมินก่อนและหลังในเรื่องของความฉลาดทางอารมณ์และภาวะซึมเศร้าก่อนและหลังทำกิจกรรมก็พบว่านักเรียนที่มีคะแนนความฉลาดทางอารมณ์ต่ำและที่มีภาวะซึมเศร้าต่างก็มีจำนวนลดลง ข้อเสนอแนะ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสมควรได้รับการนำไปใช้ในสถานศึกษาการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติเหมือนกันหรือกลุ่มตัวอย่างอื่นที่ใกล้เคียงกัน โดยอาจเพิ่มปัจจัยที่ผู้ศึกษาต้องการศึกษาเข้าไปในหัวข้อของการศึกษา และควรนำไปขยายผลในกลุ่มตัวอย่างอื่นๆ โดยการปรับพัฒนาเครื่องมือในการวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อการนำเสนองานด้านวิชาการต่อไป

Keywords: สุขภาพจิต, โรงเรียน, โครงการนำร่อง, ความฉลาดทางอารมณ์, ภาวะซึมเศร้า, นักเรียนประถมศึกษา, นักเรียน, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มงานจิตเวชและสุขภาพจิตชุมชน สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 2006000163

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -