ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการคืนชีวิตใหม่สู่สังคมและการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้านสุขภาพจิตในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 62.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิต ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งในด้านการดำรงชีวิตประจำวันและการดำรงชีวิตในชุมชน เกิดการเสื่อมถอยของบุคลิกภาพ และพฤติกรรม ลงเอยด้วยการปล่อยให้เดินเร่ร่อน หรือถูกล่ามขังในชุมชน โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการนี้ โดยร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่เดินเร่ร่อนหรือถูกล่ามขัง พร้อมไปกับการพัฒนาศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เข้าถึงการรักษาได้โดยสะดวกและชุมชนได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้ป่วยจิตเวชให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้ผู้ป่วยทางจิตที่เดินเร่ร่อนและถูกล่ามขัง ได้รับการรักษาอย่างถูกและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติและสร้างศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชให้แก่ชุมชน2. เพื่อสำรวจความต้องการของญาติที่มีต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยเร่ร่อน ล่ามขัง วิธีการดำเนินงาน- โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุดรธานี รวมถึงตัวแทนเครือข่ายสุขภาพจิตทุกระดับในอำเภอนำร่องเพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันและจัดทีมสุขภาพจิตออกติดตามเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับเครือข่ายสุขภาพจิตในพื้นที่เพื่อประเมินถึงปัญหาและกำหนดแนวทางการรักษาผู้ป่วยร่วมกัน จัดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกแก่โรงพยาบาลในอำเภอนำร่อง เพื่อรักษาและสร้างศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแก่เจ้าหน้าที่ในอำเภอนั้น ๆ เพื่อที่จะช่วยในการป้องกันการเกิดปัญหาเร่ร่อน ล่ามขังในผู้ป่วยรายใหม่และป้องกันไม่ให้เกิดการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยรายเก่าโดยมีเป้าหมายให้จำนวนผู้ป่วยเร่ร่อน ล่ามขังที่ดำเนินการช่วยเหลือได้สำเร็จอย่างน้อย 25% ของผู้ป่วยทั้งหมด สรุปผลการดำเนินงาน ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น (เฉพาะอำเภอนำร่อง) มีผู้ป่วยเร่ร่อนและล่ามขังทั้งหมด 56 คน ได้รับการรักษาแล้ว 33 คน (58%) ในจำนวนนี้ผู้ป่วยสามารถกลับมาช่วยเหลือตัวเองและประกอบอาชีพได้ 16 คน (28.5%) ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอนำร่อง) มีผู้ป่วยเร่ร่อนและล่ามขังทั้งหมด 52 คน ได้รับการรักษาแล้ว 25 คน (48%) ในจำนวนนี้ผู้ป่วยสามารถกลับมาช่วยเหลือตัวเองและประกอบอาชีพได้ 16 คน (30.7%) จากการสำรวจความต้องการของญาติผู้ป่วยที่มีการบำบัดรักษาจากชุมชน พบว่าต้องการให้มีบริการทางจิตเวชที่โรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุด รองลงมาคือ ต้องการหางานอาชีพให้ผู้ป่วยทำ เพื่อที่จะมีรายได้ และต้องการให้เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขให้คำปรึกษาและติดตามเยี่ยมผู้ป่วยตามลำดับ ข้อเสนอแนะ จะยังคงมีการดำเนินงานต่อไปในอำเภอที่เหลือในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุดรธานี โดยดำเนินการร่วมไปกับการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระดับชุมชน

Keywords: สุขภาพจิต, คืนชีวิตใหม่, โรคทางจิต, จิตเวช, ล่ามขัง, เร่ร่อน, จิตเวชชุมชน, ระบบบริการ, โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ลดอคติ, คืนชีวิตใหม่สู่สังคม, การพัฒนาศักยภาพ, พฤติกรรม, ผลกระทบ, ทัศนคติ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี, โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี, โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2006000171

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -