ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคล.

ชื่อเรื่อง/Title: รายงานการวิจัยระบาดวิทยาของผู้ทำร้ายตนเอง พ.ศ. 2547.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 80.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500-5,500 คน และถ้านับจำนวนผู้ที่ทำร้ายตัวเองทั้งหมด ทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต จะพบว่ามีจำนวนสูงถึง 25,000-27,000 รายต่อปี (อภิชัย มงคลและคณะ, 2546) ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติอย่างมาก การศึกษาระบาดวิทยาของผู้ทำร้ายตนเองนี้จึงเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตายพฤติกรรมการทร้ายตนเองในแง่ระบาดวิทยา ซึ่งข้อมูลจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนแก้ไขปัญหานี้และช่วยเหลือผู้ป่วย ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องและตรงกับคุณลักษณะและการได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาวการณ์ด้านกาย จิตใจ สังคมและเศรษฐกิจ เหตุผลของการมีชีวิตการวางแผน การดำเนินชีวิตของผู้ทำร้ายตนเอง และปัจจัยเสี่ยงต่อการที่ผู้ป่วยยังมีความคิดจะทำร้ายตนเองซ้ำ ขอบเขตการวิจัย จากการสุ่มผู้ทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิตในช่วง 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2547 จากทุกภาค รวม 25 จังหวัด ระเบียบวิจัย 1. ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง จำนวนตัวอย่าง 1,200 รายการ 2.การสุ่มตัวอย่าง “ผู้ทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิต” ที่กระทำในช่วง 1 มกราคม -31 ธันวาคม 2547โดยสุ่มเลือกจาก รง.506.DS จากทุกภาคของประเทศไทย ภาคละ 5-6 จังหวัด รวม 24 จังหวัดละ 3 อำเภอ 3. ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย ผู้มีอาการโรคจิต /คนว่างงาน-ตกงาน / ผู้เคยใช้สารเสพติด ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า /ผู้ที่เคยร้ายตนเองมาก่อน และผู้ที่โรคประจำตัวเรื้อรัง 4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบบสัมภาษณ์ระบาดวิทยาผู้ทำร้ายตนเอง พ.ศ. 2547 ซึ่งพัฒนาและทดสอบคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 5. การเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการโดยพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับการฝึกอบรม และฝึกซ้อมจนมีความเข้าใจเนื้อหาของแบบสัมภาษณ์ เป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการให้บริการด้านการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยได้ 6. การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติอ้างอิง สอดคล้องตามชนิดของตัวแปร สรุปผลการวิจัย จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยจำนวน 718 ราย พบว่าผู้ทำร้ายตนเองเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง 20 – 29 ปี สถานภาพสมสมรสคู่ อาชีพ รับจ้าง หรือใช้แรงงาน เกษตรกรรมและนักเรียนนักศึกษา จากการประเมินสภาวการณ์ปัญหาด้านร่างกาย จิตใจ สังคม การติดสารเสพติดและเศรษฐกิจพบว่าปัญหาของผู้ป่วยในปัจจุบันที่ประเมินว่าควรได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม 3 อันดับแรก ได้แก่ การทำงานและรายได้ (ร้อยละ 24 ถึง 32) สุขภาพกาย (ร้อยละ 15 ถึง 17)วิธีการทำร้ายตนเองส่วนใหญ่ใช้กินยาเกินขนาด (ร้อยละ 45) รองลงมาคือการกินสารเคมี (ร้อยละ 40) สาเหตุปัญหาขัดแย้งกับคนใกล้ชิด (ร้อยละ 45 ถึง 49) โดยไม่มีการส่งสัญญาณให้รู้ล่วงหน้า (ร้อยละ 48) เมื่อประเมินเหตุผลของผู้ป่วยที่ต้องการมีชีวิตอยู่และการที่คนเราไม่ทำร้ายตนเอง พบว่ากลุ่มเหตุผลที่ผู้ป่วยตอบมากที่สุดอันดับแรก เป็นเรื่องการเป็นห่วงคนในครอบครัว ไม่อยากให้เขาเสียใจ ( ร้อยละ 86 ถึง 96) ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ60มีการวางแผนการดำเนินชีวิตในอนาคตโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการทำงานเก็บเงินการตั้งใจเรียน และการใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอย่างเติมที่ผลการพยากรณ์ความคิดทำร้ายตนเองซ้ำในเพศหญิงและเพศชาย โดยใช้สมการถดถอยโลจิสติกชี้ว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการมีความคิดทำร้ายตนเองซ้ำของเพศหญิงได้แก่ การมีอาการซึมเศร้า (4.8 เท่าของผู้มีอาการซึมเศร้า) การมีอาการทางจิต (4.38 เท่าของผู้ไม่มีอาการทางจิต) สำหรับปัจจัยเสี่ยงในเพศชาย ได้แก่การมีอาการโรคจิต ( 7.42 เท่าของผู้ไม่มีอาการ) ความคาดหวังในการทำร้ายตนเองให้ตาย (5.37 เท่าของผู้ที่ไม่มีความหวัง) และพบว่าคะแนนเหตุผลการมีชีวิตอยู่เป็นปัจจัยปกป้องต่อการมีความคิดทำร้ายตนเองซ้ำทั้งในหญิงและชาย ข้อเสนอแนะ ควรส่งเสริมให้บุคลากรใช้แบบสัมภาษณ์นี้ในการให้บริการแก่กลุ่มผู้ทำร้ายตนเองโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีอาการซึมเศร้า มีอาการโรคจิต (เพศหญิง) ความคาดหวังในการตาย (เพศชาย) และคะแนนเหตุผลการมีชีวิตน้อย (ทั้งเพศชายและหญิง) ซึ่งการช่วยเหลือจะต้องประสานงานกับองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานบริการทางสังคมอื่น ๆ และศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยปกป้องของการทำร้ายตนเองในชุมชน และวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวทางเวชปฏิบัติที่ดีในการดูแลผู้ป่วยทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิต

Keywords: ฆ่าตัวตาย, พยายามฆ่าตัวตาย, ระบาดวิทยา, สุขภาพจิต, ครอบครัว, สังคม, การดำเนินชีวิต, พฤติกรรม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ซึมเศร้า, การทำร้ายตนเอง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กรมสุขภาพจิต

Code: 2006000173

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -