ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วรัฏฐา เจริญและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: บทบาทนักสังคมสงเคราะห์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพผู้ป่วยจิตเวชสู่ชุมชน โรงพยาบาลศรีธัญญา.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 207.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหาสำคัญของโรคทางจิตเวช คือ ความสูญที่เกิดจากความผิดปกติของสภาพจิตใจ การดำเนินโรคของผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้ มักส่งผลกระทบต่อตนเอง เช่น การเจ็บป่วยหรือหลังการเจ็บป่วยอาจมีข้อจำกัดหรือสูญเสียความสามารถที่ดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนคนปกติ ได้แก่ การดูแลสุขภาพอนามัยตนเองการมีสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียน การทำงาน เป็นต้น อีกทั้งมีผลกระทบต่อครอบครัว จำเป็นต้องได้รับการดูแลระยะยาว จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูสรรมภาพ เมื่อผู้ป่วยสามารถใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ให้มากที่สุด ลดความบกพร่อง/พิการให้หลงเหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป การฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับคนพิการ จึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลจึงได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยตรง คือพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 ซึ่งถือเป็นนโยบายอย่างชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมคนพิการในทุกด้านตั้งแต่ การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ และการมีส่วนร่วมในสังคม การฟื้นฟูสมรรถภาพในการดูแลตนเอง รวมถึงการทำกิจกรรมหรือการทำงานได้ด้วยตนเองเปิดโอกาสให้การเรียนรู้การปรับตัว พัฒนาด้านศักยภาพให้อยู่ในสังคมได้เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย วัตถุประสงค์ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนรู้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพผู้ป่วยจิตเวชสู่ชุมชน เพื่อหารูปแบบในการเตรียมความพร้อมด้านสังคมและอาชีพสำหรับผู้ป่วยจิตเวชสู่ชุมชน ขอบเขตของการวิจัย ในการศึกษาค้นคว้านี้ มุ่งศึกษาถึงบทบาทนักสังคมสงเคราะห์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพแก่ผู้ป่วยจิตเวชสู่ชุมชนพื้นที่ในการศึกษา คือโรงพยาบาลศรีธัญญาและสถานประกอบการปั้มน้ำมันคาลเท็กช์ ซอยศิริชัย จังหวัดนนทบุรี กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศรีธัญญา ที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพ ในโครงการร้านเพื่อน และได้ออกไปประกอบอาชีพในสถานประกอบการจำนวน 5 คน ศึกษาในระหว่างเดือน พฤษภาคม 2547- กรกฎาคม 2548 ( 1ปี 2 เดือน) วิธีการศึกษา การดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนดังนี้ 1. ขั้นเตรียมการ 1.1 การเตรียมผู้ป่วย มีการดำเนินงานดังนี้ - คัดเลือกผู้ป่วยจิตเวชที่ออกมาทำงานร้านเพื่อนติดต่อกันอย่างน้อย 5 เดือน ประเมินสมรรถภาพทางจิตเวชอยู่ในระดับ 3 ขึ้นไป และประเมินความถนัดในการประกอบอาชีพ จำนวน 5 คน - ประสานกับนักจิตวิทยาเพื่อส่งผู้ป่วยไปวินิจฉัยทางจิตวิทยา - ทำกลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนนำผู้ป่วยจิตเวชไปทำงานในสถานประกอบการนอกโรงพยาบาล 1.2 เตรียมสถานประกอบการและเพื่อนร่วมงาน - ประสานงานกับเจ้าของสถานประกอบการ ( ปั้มน้ำมัน ) ก่อนส่งผู้ป่วยไปทำงาน - จัดอบรมความพร้อมเพื่อนร่วมงานในสถานประกอบการ 2. ขั้นดำเนินงาน - ส่งผู้ป่วยจิตเวชไปทำงานในสถานประกอบการปั้มน้ำมันคลาเท็กช์และฝึกทักษะทางสังคมต่างๆ - ทำกลุ่มเปิดใจหลังเลิกงาน เป็นระยะๆ 3. ขั้นการติดตามประเมินผล - นักสังคมสงเคราะห์จะโทรศัพท์พูดคุยกับเจ้าของสถานประกอบการเป็นระยะๆและไปเยี่ยมผู้ป่วยในสถานประกอบการ - ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานให้แจ้งเจ้าของประกอบการและเจ้าของประกอบการจะโทรศัพท์ติดต่อนักสังคมสงเคราะห์เอง - ถ้าเรื่องใดไม่สามารถคุยกับเจ้าของประกอบการได้แนะนำให้ผู้ป่วยมาพบนักสังคมสงเคราะห์ผู้ดูแลที่โรงพยาบาลศรีธัญญา สรุปผลการดำเนินงาน กรณีศึกษาเป็นผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลศรีธัญญาที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพในโครงการร้านเพื่อนและได้ออกไปประกอบอาชีพในสถานประกอบการปั้มน้ำมันคาลเท็กช์ ซอยศิริชัย จังหวัดนนทบุรี จำนวน 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน โดยมีระยะเวลาการฝึกทักษะทางสังคมและอาชีพจากร้านเพื่อนมากที่สุด จำนวน 3 ปี รองลงมา 2 ปี น้อยที่สุด 5 เดือน ส่วนใหญ่ญาติไม่พร้อมจะรับกลับไปดูแล เนื่องจากมีฐานะยากจนและไม่มีที่อยู่อาศัย จากผลการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพสถานประกอบการปั้มน้ำมันคาลเท็กช์ สาขาซอยศิริชัย จังหวัดนนทบุรี สำเร็จ จำนวน 4 คน และไม่สำเร็จ จำนวน 1 คน ข้อเสนอแนะ - นักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นผู้ฝึก ( job coach) ควรหาสถานประกอบการเพิ่มและมีความหลากหลายเพื่อผู้ป่วยจิตเวชจะได้ลองไปทำงานมากขึ้น - จัดสัมมนานายจ้างที่ได้รับผู้ป่วยจิตเวชเข้าทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาการทำงาน ข้อเสนอแนะของนายจ้าง เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข - จัดสัมมนาผู้ป่วยจิตเวชที่ทำงานแล้ว กลับมาร่วมสัมมนาเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆได้รับทราบลักษณะงานภายนอก รายได้ ความยากง่ายของงาน ปัญหาการทำงาน เป็นต้น

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, โรงพยาบาลศรีธัญญา, ร้านเพื่อน, ผู้ป่วยจิตเวช, อาชีวบำบัด, นักสังคมสงเคราะห์, บทบาท, อาชีพ, ชุมชน, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: หน่วยคุณภาพสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลศรีธัญญา

Code: 2006000174

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -