ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มะลิวรรณ ออสันเทียะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ปัญหาพฤติกรรมในเด็กชั้นประถมศึกษาโรงเรียนสวนหม่อน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 1

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 220.

รายละเอียด / Details:

เพื่อศึกษาความชุกของปัญหาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมในเด็กชั้นประถมศึกษา วิธีการศึกษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา ณ จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (cross sectional study) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่อายุ 6-11 ปี ของโรงเรียนสวนหม่อน โดยชุดสำหรับผู้ปกครองจำนวน 606 คน ชุดสำหรับครู จำนวน 600 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือแบบสำรวจพฤติกรรมเด็กTYC (Thai Youth Checklist) และแบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่อาจมีความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรม โดยนำแบบสำรวจให้กับครูประจำชั้นพร้อมชี้แจงการใช้แบบสำรวจพฤติกรรมสำหรับครูและผู้ปกครอง และวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ย ด้วย t-test, F-test และทดสอบความสัมพันธ์โดยใช้ Chi-Square test. ผลการศึกษา ในทัศนะผู้ปกครอง พบว่าความชุกของปัญหาพฤติกรรมในระดับมีปัญหา พบร้อยละ 43.1 โดยพบเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมมาก ร้อยละ 22.1 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมพบว่าความแตกต่างของรายได้ครอบครัว ขนาดครอบครัว ความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและคนในครอบครัว และพ่อหรือแม่เคยมีอาการทางจิต ประสาท ติดสุรา หรือสารเสพติด มีผลทำให้คะแนนปัญหาพฤติกรรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p‹.05 ส่วนสถานภาพสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง และผลการเรียนมีความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<.01 ปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรม คือระดับการศึกษาของพ่อแม่ การที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ สมาชิกในครอบครัวเคยทำผิดหรือต้องคดี ผลการศึกษาความชุกของปัญหาพฤติกรรมในทัศนะครู พบว่าเด็กมีปัญหาพฤติกรรม ร้อยละ 19.5 โดยจัดอยู่ในระดับมีปัญหามาก ร้อยละ 7.2 ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<.01 คือความแตกต่างของช่วงอายุ ผลการเรียน การปรับตัว ข้อเสนอแนะ จากผลศึกษานี้นำมาใช้เป็นแนวทางในการวางแผน ส่งเสริมสุขภาพจิต การให้ความรู้และจัดโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมทักษะชีวิตในเด็กกลุ่มเสี่ยงหรือจัดชั่วโมงอิสระให้โอกาสเด็กได้ระบายความรู้สึกนึกคิดต่อปัญหาเหตุการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวสร้างภูมิต้านทานทางด้านจิตใจต่อการเผชิญปัญหา สอนการแก้ปัญหาและการปรับตัวที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรมีการสำรวจเด็กกลุ่มเสี่ยง ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเฟื่อเฝ้าระวัง.

Keywords: สุขภาพจิต, ทักษะชีวิต, การปรับตัว, พฤติกรรม, เด็ก, ความสัมพันธ์, ครอบครัว, รายได้, แบบสำรวจพฤติกรรมเด็ก TYC

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา.

Code: 2006000177

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -