ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: องอาจ เชียงแขก, ชะลอ เพชรอินทร์, เสาวรส สง่าเมือง, ทรงฤทธิ์ ศรีสารคาม

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลของกิจกรรมดนตรีอังกะลุงต่ออาการด้านลบของผู้ป่วยจิตเภท.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 74.

รายละเอียด / Details:

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้พัฒนากิจกรรมเพื่อเพิ่มการมีบทบาทของผู้ป่วยจิตเภทในการเข้าร่วมกิจกรรมการรักษามากมาย การบรรเลงดนตรี เป็นรูปแบบของกิจกรรมหนึ่งที่ผู้ป่วยให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรมได้ดี โดยเฉพาะการบรรเลงดนตรีประกอบอังกะลุง ซึ่งไม่มีการศึกษาในเชิงลึกถึงผลของกิจกรรมอังกะลุงต่ออาการด้านลบของผู้ป่วยจิตเภทในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จึงได้ทำการศึกษาผลของกิจกรรมดนตรีอังกะลุงต่ออาการด้านลบของผู้ป่วยจิตเภท ซึ่งการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยจิตเภททั้งชายและหญิงที่รับไว้รักษาในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 36 คน ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงซึ่งคัดเลือกตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย โปรแกรมกิจกรรมอังกะลุงบำบัด และแบบประเมินอาการด้านลบ จากนั้นทำการแบ่งกลุ่มผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 12 คน โดยทุกกลุ่มจะเข้าร่วมกิจกรรมอังกะลุงจำนวน 12 ครั้ง ระยะเวลาในการทำกลุ่มครั้งละ 90 นาที และหลักการเสร็จสิ้นการดำเนินกิจกรรมของทุกๆ กลุ่ม ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินด้วยแบบประเมินอาการด้านลบอีกครั้ง เพื่อนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ t-test ที่ระดับความเชื่อมั่นน้อยกว่าร้อยละ 95 เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนจากแบบประเมินอาการด้านลบผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ ผลการเปรียบเทียบคะแนนอาการด้านลบโดยรวมของผู้ป่วยจิตเภท ที่ได้จากแบบประเมินอาการด้านลบก่อนและหลังการเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมดนตรีบำบัด พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมี p-value‹0.05 โดยสรุปได้ว่าคะแนนด้านลบของผู้ป่วยภายหลังการเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีบำบัดอังกะลุงลดลงจริง เป็น ไปตามสมมติฐานของการทดลองและสอดคล้องกับ การวิจัยของ นครและคณะ (2547) ที่พบว่าอาการด้านลบของผู้ป่วยจิตเภทหลังรับการรักษาด้วยกิจกรรมดนตรีบำบัดลดลง แต่ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่มีอาการด้านลบเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางการรักษาอื่นร่วมด้วย ดังนั้นจากผลการศึกษาที่ได้ ทางคณะทำงานจะนำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาเทคนิคการรักษาผู้ป่วยจิตเภทด้วยดนตรีอังกะลุงและเครื่องดนตรีประเภทอื่นๆ ต่อไป

Keywords: จิตเภท, ดนตรี, อังกะลุง, ผู้ป่วยจิตเภท, โรคจิต, กิจกรรมบำบัด, กิจกรรม, สุขภาพจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 200600021

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -