ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กัลยา ภักดีมงคล, จินตนา ยูนิพันธุ์, เพชรี คันธสายบัว

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบบริการพยาบาลแบบเจ้าของไข้สำหรับผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรง

แหล่งที่มา/Source: วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต, ปีที่ 20, ฉบับที่ 1, มกราคม-มิถุนายน 2549, หน้า 25-27.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยและพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการพยาบาลเจ้าของไข้สำหรับผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรง การดำเนินการวิจัยมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบบริการพยาบาลแบบเจ้าของไข้ 2. การวิจัยกึ่งทดลองแบบ 2 กลุ่ม วัดก่อนและหลังเพื่อทดสอบผลของระบบที่พัฒนาขึ้นที่มีต่อความสามารถในการดูแลตนเอง ความสามารถจัดการความโกรธ และความพึงพอใจต่อบริการพยาบาลของผู้ป่วย ภาระในการดูแล และความพึงพอใจของพยาบาล และ 3. การปรับระบบการพยาบาลแบบเจ้าของไข้สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่มีพฤติกรรมรุนแรง กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ผู้ป่วยจิตเภทที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล จำนวน 32 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและควบคุม ด้วยการจับคู่ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภท จำนวน 16 คน และพยาบาลปฏิบัติการจำนวน 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรมข้อมูล ได้แก่ แบบตรวจสอบภาวะแทรกซ้อนและการบาดเจ็บจากการผูกมัด แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ป่วยและแบบวัด 3 ฉบับ คือ แบบวัดความสามารถในการดูแลตนเอง ความสามารถจัดการความโกรธของผู้ป่วย และภาระในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทสำหรับผู้ดูแล ค่าความเที่ยงของแบบสอบถามและแบบวัดเท่ากับ .95, .82, 70 และ .93 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย และสถิติทดสอบที (t-test) ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้ 1. ผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรงในกลุ่มทดลองซึ่งที่ได้รับบริการแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ ได้รับการผูกยึดร้อยละ 18.75 ส่วนในกลุ่มควบคุม ได้รับการผูกยึดร้อยละ 60.50 และผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ร้อยละ 10 ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและการบาดเจ็บเกิดขึ้นจากการผูกยึด นอกจากนั้นผู้ป่วยในกลุ่มทดลองมีความพึงพอใจต่อคุณภาพการพยาบาลในระดับเกินความคาดหวัง และสอดคล้องกับความคาดหวัง ร้อยละ 42.97 ร้อยละ 41.59 ตามลำดับ 2. ผู้ป่วยในกลุ่มทดลองหลังการทดลองมีความสามารถจัดการความโกรธ และความสามารถดูแลตนเอง สูงกว่าก่อนการทดลอง และสูงกว่าในผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ภาระในการดูแลผู้ป่วยของผู้ดูแลในกลุ่มที่ได้รับบริการแบบการพยาบาลเจ้าของไข้ก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน 4. เทคโนโลยีระบบพยาบาลเจ้าของไข้ ซึ่งประกอบด้วยแนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก คู่มือการปฏิบัติงานทั้งของพยาบาลเจ้าของไข้ และผู้เกี่ยวข้องที่สร้าง ทดสอบและปรับปรุงแล้ว หน่วยงานการพยาบาลสามารถนำไปใช้ในการจัดบริการ ปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรง ที่ส่งผลต่อคุณภาพการบริการพยาบาล ได้แก่ ผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อน มีความสามารถดูแลตนเองและควบคุมความโกรธของตนได้สูงขึ้น และมีความพึงพอใจในบริการพยาบาลมากขึ้น นอกจากนั้นการใช้ระบบการพยาบาลแบบเจ้าของไข้ เมื่อมีการเตรียมการและจัดระบบงานอย่างเหมาะสม ส่งผลให้พยาบาลมีความพึงพอใจในการบริการผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้นด้วย

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, พฤติกรรมรุนแรง, ระบบบริการพยาบาล, การพยาบาลจิตเวช, เจ้าของไข้, การพยาบาลแบบเจ้าของไข้, ความสามารถในการดูแลตนเอง, ความสามารถจัดการความโกรธ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,

Code: 2006000239

ISSN/ISBN: 0857-4553

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: