ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มลฤดี บุราณและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยคัดสรรที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยภายหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

แหล่งที่มา/Source: วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต, ปีที่ 20, ฉบับที่ 1, มกราคม-มิถุนายน 2549, หน้า 61-62.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรร ได้แก่ เพศ อายุ รายได้ ระยะเวลาการเจ็บป่วย ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ภาวะการทำหน้าที่ ความเหนื่อยล้า อาการหายใจลำบาก และการสนับสนุนทางสังคม กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน จำนวน 150 คน ที่มารับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกหัวใจและหลอดเลือดของ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลรามาธิบดี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ แบบบันทึกภาวะการทำหน้าที่ แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความเหนื่อยล้า แบบประเมินอาการหายใจลำบาก และแบบประเมินการสนับสนุนทางสังคม ผ่านการตรวจความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และจากการหาค่าความเที่ยงของแบบประเมินได้เท่ากับ .75,.89,.80 และ .83 ตามลำดับวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ค่าสัมประสิทธิ์อีตา และค่าสถิติไคสแควร์ ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้ 1.ผู้ป่วยหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยเฉลี่ยแล้วไม่เกิดภาวะซึมเศร้า คะแนนเฉลี่ยของภาวะซึมเศร้าเท่ากับ 12.88 คะแนน (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 6.17) 2.รายได้ และการสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางลบกับภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=-.511 และ -.437 ตามลำดับ) 3.อาการหายใจลำบาก และความเหนื่อยล้า มีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05 (r=.434 และ .395 ตามลำดับ) ส่วนระยะเวลาการเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับต่ำกับภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=.187) 4.เพศมีความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยหลังการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (Eta=.555) 5.ภาวะการทำหน้าที่มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำกับภาวะซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยหลังการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (C=.240) 6.อายุและประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ ไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

Keywords: ซึมเศร้า, การพยาบาลจิตเวช, การพยาบาลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า, โรคหัวใจ, ภาวการณ์ทำหน้าที่, ความเหนื่อยล้า, อาการหายใจลำบาก, การสนับสนุนทางสังคม, ภาวะซึมเศร้า, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม

Code: 2006000242

ISSN/ISBN: 0857-4553

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: