ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผกาพันธุ์ วุฒิลักษณ์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: โรคซึมเศร้าในกลุ่มผู้มีการนอนหลับไม่ปกติ ณ สถานีอนามัยบ้านเมืองวะ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

แหล่งที่มา/Source: วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต, ปีที่ 20, ฉบับที่ 1, มกราคม-มิถุนายน 2549, หน้า 76-77.

รายละเอียด / Details:

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป และพบได้มากในผู้มารับบริการทางด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิ อาการซึมเศร้าในผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม้ได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะอาการซึมเศร้ามักมีอาการทางกายร่วมด้วยเวลาไปพบแพทย์ผู้ป่วยจึงมักแจ้งความไม่สบายด้วยอาการทางกายมากกว่าอารมณ์ซึมเศร้า การรักษาจึงมุ่งไปที่อาการทางกาย อาการซึมเศร้าจึงไม่ดีขึ้น ทำให้เกิดเรื้อรัง และอาจจะทำให้อาการซึมเศร้าทวีความรุนแรงขึ้น อาการนอนไม่ปกติเป็นอาการทางกายที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ของโรคนี้ อาการนอนหลับไม่ปกติเป็นตัวทำนายของการเกิด โรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นการค้นหาโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยที่มีอาการนอนหลับไม่ปกติ ร่วมกับอาการทางกายที่มาใช้บริการ ด้านสุขภาพในระดับปฐมภูมิจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถคัดกรองโรคซึมเศร้าได้แต่ระยะเริ่มแรก และอาจจะเป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวโรคซึมเศร้าดำเนินไปอย่างเรื้อรังหรือรุนแรง การวินิจฉัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาโรคซึมเศร้าในกลุ่มผู้ที่นอนหลับไม่ปกติ ทำการวิจัยระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ถึง เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2548 ประชากรในการศึกษาครั้งนี้เป็นผู้ใช้บริการด้านสุขภาพ ณ สถานีอนามัยบ้านเมืองวะ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และมีอาการนอนหลับไม่ปกติร่วมด้วยนานอย่างที่สุด 1 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและสุขภาพทั่วไป ส่วนที่ 2 เป็น KKU-DI ซึ่งเป็นแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าได้ทดสอบความเชื่อมั่น ได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค เท่ากับ 0.91 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา ผลการวิจัย ผู้ใช้บริการด้านสุขภาพ ณ สถานีอนามัยบ้านเมืองวะ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการนอนหลับไม่ปกติ จำนวน 72 คน ในจำนวนนี้ 41 คน (ร้อยละ 56.9) เป็นโรคซึมเศร้า เป็นชาย 10 คน (ร้อยละ 24.4) หญิง 31 คน (ร้อยละ 75.6 ) อายุอยู่ระหว่าง 21-60 ปี อายุเฉลี่ย 45 ปี (SD=9.7) จากจำนวน 41 คน 15 คน (ร้อยละ 36.6) ได้รับการส่งต่อไปรับการวินิจฉัยและรักษาจากโรงพยาบาลจิตเวช ผู้ป่วยทั้ง 15 คน ได้รับการวินิจฉัยโรคดังต่อไปนี้ Severe depressive episode without psychotic symptom จำนวน 6 คน (ร้อยละ 40.0) Moderate depressive episode จำนวน 1 คน (ร้อยละ 6.7) Dysthymia จำนวน 3 คน (ร้อยละ 19.9) Adjustment disorders จำนวน 1 คน (ร้อยละ 6.7) Panic Disorder จำนวน 1 คน (ร้อยละ 6.7) และ Mental and behavioral disorders due to use of alcohol จำนวน 1 คน (ร้อยละ 6.7) Other depressive episodes จำนวน 2 คน (ร้อยละ13.3) สรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยครั้งนี้ได้ค้นพบผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในผู้มาใช้บริการด้านสุขภาพในชุมชนที่มีการนอนหลับไม่ปกติร่วมด้วย พยาบาลจิตเวชที่ทำงานในชุมชนควรตระหนักถึงการตรวจประเมินโรคซึมเศร้า ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ด้วยการช่วยเหลือและส่งต่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว สามารถป้องกันความรุนแรงและความเรื้อรังของโรคซึมเศร้าลงไปได้

Keywords: โรคซึมเศร้า, นอนไม่หลับ, ภาวะซึมเศร้า, ปัญหาจิตเวช, อาการซึมเศร้า, อาการทางกาย, แบบคัดกรอง, ซึมเศร้า, จิตเวช, การนอนหลับไม่ปกติ, การตรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า, บริการด้านสุขภาพในชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Code: 2006000244

ISSN/ISBN: 0857-4553

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: