ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เนตรนภา ภมะราภา

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบบริการบำบัดผู้ติดสารเสพติดของจังหวัดอุตรดิตถ์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 128-129. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การให้บริการจิตสังคมบำบัดเต็มรูปแบบของจังหวัดอุตรดิตถ์มีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาภาระงานล้นมือของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดสารเสพติดทั้งจังหวัดกว่า 5,000 คน โดยเฉพาะในอำเภอเมือง ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ มีอัตราส่วนผู้บำบัดต่อผู้ติดสารเสพติดสูงถึง 7:2,000 คน โรงพยาบาลอุตรดิตถ์จึงแก้ไขปัญหาโดยการจัดการศึกษาเปรียบเทียบบริการจิตสังคมบำบัดแบบบูรณาการตามแนวทางของโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กับบริการจิตสังคมบำบัดเต็มรูปแบบ พบว่า กระบวนการบำบัดแบบบูรณาการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยละ 50 ประหยัดเวลาและบุคลากรลงร้อยละ 30 ผู้รับบริการร้อยละ 88 พึงพอใจ ส่วนผลสัมฤทธิ์ของการบำบัดรักษาด้านอัตราการคงอยู่ในโปรแกรมและผลการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ ไม่มีความแตกต่างกัน จากสภาพปัญหาและการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าว กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ จึงขยายผลการพัฒนาระบบบริการจิตสังคมบำบัดแบบบูรณาการให้ครอบคลุมทั่วจังหวัด เพื่อเสนอทางเลือกให้ผู้ติดสารเสพติดและครอบครัวได้มีโอกาสเข้าถึงบริการจิตสังคมบำบัดตามสภาพปัญหา อาการ และความต้องการของผู้รับบริการได้อย่างเหมาะสมทุกกลุ่มเป้าหมาย วิธีการ 1. จัดตั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน และเครือข่ายการบำบัดรักษายาเสพติดของจังหวัดอุตรดิตถ์ 2.จัดทำแบบคัดกรองในชุมชน ในสถานศึกษา และแบบคัดกรองสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อจำแนกผู้รับการบำบัดตามสภาพปัญหาความรุนแรงของโรค คือ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสพ กลุ่มติดยา (ติดเล็กน้อย ติดปานกลาง ติดรุนแรง) 3. จัดทำคู่มือแนวทางการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดในกลุ่มต่างๆ และจัดทำตารางหมอบหมายงานในการทำกิจกรรมกลุ่มบำบัดทุกวันอย่างชัดเจน โดยหาบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนได้รับการพัฒนาองค์ความรู้จิตสังคมบำบัดครบร้อยละ 100 4. เผยแพร่ความรู้และพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเครือข่ายของโรงพยาบาล ผู้นำชุมชนสมัชชายาเสพติด ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตสังคมบำบัด เพื่อร่วมกันจัดทำข้อกำหนดและเกณฑ์มาตรฐานการดำเนินงาน 5. ออกนิเทศติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายการบำบัดสารเสพติด เพื่อร่วมรับรู้ปัญหาอุปสรรค และร่วมแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ ผลที่ได้รับ เกิดระบบการบำบัดผู้ติดสารเสพติดที่ได้รับการบูรณาการตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้รับการบำบัด ครอบครัว และชุมชน อย่างเป็นเอกภาพในทิศทางเดียวกันทั้งจังหวัด เพื่อสนับสนุนให้ผู้ติดสารเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพดังนี้ - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้เกี่ยวข้องทุกคนและองค์กรเครือข่าย 500 คน ทั่วทั้งจังหวัด ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด โดยเน้นองค์ความรู้ด้านจิตสังคมบำบัดอย่างทั่วถึง - อัตราผู้รับการบำบัดที่ยังคงอยู่ในโปรแกรมจิตสังคมบำบัดแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอเท่ากับร้อยละ 88.02 ของผู้เข้ารับการบำบัดทั้งหมด - ผลการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ ณ เดือนที่ 3,6,9,12 เป็นผลลบร้อยละ 100 ของผู้ที่ยังคงโปรแกรม - งานบำบัดรักษายาเสพติดได้มาตรฐานสากล จากการรับรองของสถาบันธัญญารักษ์ - เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเครือข่ายทั่วจังหวัด ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตนเอง และให้ความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างเต็มกำลัง

Keywords: บริการจิตสังคมบำบัด, ยาเสพติด, สารเสพติด, จิตสังคมแบบบูรณาการ, เครือข่าย, ชุมชน, โปรแกรมจิตสังคมบำบัดแบบบูรณาการ, จิตสังคมบำบัด, จิตสังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์

Code: 00000037

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -