ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุชาติ พหลภาคย์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความแม่นตรงและความเชื่อถือได้ของ WHO Schedules for Clinical Assessment in Neuropsychiatry ฉบับภาษาไทยหมวดอาการโรคจิต

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการประจำปี 2549 ครั้งที่ 34 "จิตเวชศาสตร์และวิกฤตทางสังคม (Psychiatry and Social Crises), ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมสุขภาพจิต วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2549, ณ.โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ หน้า 20-21.

รายละเอียด / Details:

แบบที่ใช้ในการสัมภาษณ์ทางจิตเวชเพื่อทำให้การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชศาสตร์ได้มาตรฐานสากลมีอยู่หลายชุด Schedules for Clinical Assessment in Neuropsychiatry (SCAN) Version 2.1 ขององค์การอนามัยโลกเป็นแบบสัมภาษณ์ชุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง เป็นแบบสัมภาษณ์ที่ได้รับการปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างๆทั่วโลก ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยทางจิตเวชด้วย SCAN จะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคตาม ICD-10 วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความแม่นตรงและความเชื่อถือได้ของ WHO Schedules for Clinical Assessment in Neuropsychiatry (SCAN) Version 2.1 ภาคภาษาไทยหมวดอาการโรคจิต วิธีการศึกษา คณะผู้วิจัยได้แปลบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับอาการโรคจิตของ SCAN version 2.1 เป็นภาษาไทย บทสัมภาษณ์ที่แปลประกอบด้วยบทที่ 16,17,18 และบทที่ 19 ซึ่งเป็นบทที่ถามอาการเกี่ยวกับ perceptual disorders other than hallucination hallucination experiences of thought disorders and replacement of will และ delusions ตามลำดับ คณะผู้วิจัยได้แปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ (back translation) และตรวจสอบว่ามีความหมายแม่นตรงกับความหมายเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ตรงก็จะแก้ไขภาคภาษาไทยจนคำแปลเป็นภาษาอังกฤษมีความหมายตรงกับภาคภาษาอังกฤษต้นฉบับเดิม คณะผู้วิจัยได้นำ SCAN ภาคภาษาไทยที่ได้ไปสัมภาษณ์อาสาสมัครในภาคสนามทั้ง 4 ภาคของประเทศภาคละ 20 คน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคำที่ใช้และตรวจสอบว่าคำแปลเป็นที่เข้าใจหรือไม่ จิตแพทย์ 2 คน จะช่วยกันนำความเห็นที่ได้รับจากอาสาสมัครที่ตอบแบบสัมภาษณ์มาประกอบการแก้ไข SCAN ภาคภาษาไทยจนคนไทยสามารถเข้าใจคำถามได้ง่าย การศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของ SCAN ภาคภาษาไทยหมวดโรคจิตได้กระทำตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 อาสาสมัครที่ตอบแบบสัมภาษณ์มี 30 คน เป็นชาย 16 คน หญิง 14 คน เป็นผู้ป่วยจิตเภท 16 คน (ชาย 9 คน หญิง 7 คน) และคนปกติอีก 14 คน (ชาย 7 คน หญิง 7) กลุ่มตัวอย่างมีระดับการศึกษาและอาชีพที่แตกต่างกัน จิตแพทย์จะใช้ SCAN ภาคภาษาไทยหมวดอาการโรคจิตสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง มีการบันทึกวิดีโอด้วย ทั้งการสัมภาษณ์และการให้คะแนนแก่คำตอบที่ปรากฏในวิดีโอจะกระทำโดยจิตแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้ SCAN ผลการศึกษา จากคำตอบที่ได้รับจากกลุ่มตัวอย่างและจากการประเมินของจิตแพทย์ที่มีความชำนาญในการใช้ SCAN พบว่า SCAN ภาคภาษาไทยหมวดโรคจิตมีเนื้อหาที่แม่นตรง ระยะเวลาที่ใช้ในการสัมภาษณ์ผู้ป่วยคือ บางบทจะมีคำถามบางข้อที่จิตแพทย์ให้คามเห็นเกี่ยวกับคำตอบของผู้ตอบตรงกันร้อยละ 100 ค่าเฉลี่ยของ intra-rater kappa คือ 0.65,74,0,86 และ 0.80 ตามลำดับทำนองเดียวกันบางบทจะมีคำถามบางข้อที่จิตแพทย์ท่านเดียวกันให้ความเห็นเกี่ยวกับคำตอบตรงกันทั้งที่เป็นการให้คะแนนแก่ข้อมูลเดียวกันแต่ต่างเวลากันอย่างน้อยที่สุด 2 สัปดาห์ ผู้วิจัยพบว่าคำถามมากกว่าครึ่งหนึ่งของทุกบทได้ค่า kappa ทั้งชนิด inter และ intra-rater reliability ขั้นต่ำที่สุดคือระดับ substantial สรุปผลการศึกษา SCAN ภาคภาษาไทยอาการโรคจิต เป็นเครื่องมือที่มีความแม่นตรงและมีความเชื่อถือได้อย่างมากในการประเมินคนไทยที่มีอาการของโรคจิต

Keywords: SCAN version 2.1, ICD-10, แบบสัมภาษณ์ทางจิตเวช, การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคจิต, ความแม่นตรง, ความเชื่อถือได้, SCAN ภาคภาษาไทย, จิตแพทย์, แบบสัมภาษณ์, วินิจฉัยโรคจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 2006000252

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี 2549 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

Download: