ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุพร อภินันทเวช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการเล่นพนันของเด็กวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการประจำปี 2549 ครั้งที่ 34 "จิตเวชศาสตร์และวิกฤตทางสังคม (Psychiatry and Social Crises), ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมสุขภาพจิต วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2549, ณ.โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ หน้า 28.

รายละเอียด / Details:

การพนันเป็นหนึ่งในอบายมุข 6 ที่พระพุทธศาสนาได้สอนไว้ว่าเป็นทางแห่งความเสื่อม ปัจจุบันการที่เด็กวัยรุ่นไทยหันไปให้ความสนใจกับการพนันย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางบริโภคนิยม บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาวัยรุ่นควรให้ความสนใจต่อการส่งเสริมพัฒนาการวัยรุ่นให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมและป้องกันภาวะคุกคามวัยรุ่น เพื่อประโยชน์ในระดับบุคคล ชุมชนและสังคมประเทศ วิธีการศึกษา ศึกษาวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวางในวัยรุ่นไทยที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วกรุงเทพมหานคร โดยวิธีสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (simple random sampling) จำนวน 1,694 คน ใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับการเล่นพนันปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติเชิงวิเคราะห์ Chi-square test t-test และ multiple logistic regression analysis ผลการศึกษา วัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นหญิง (ร้อยละ 70) อายุเฉลี่ย 16.76 ปี ร้อยละ 96.2 นับถือศาสนาพุทธ ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมต้น และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ร้อยละ 26.7 และ 26.5 ตามลำดับ) ผลการเรียนเฉลี่ย 2.92 สถานะเศรษฐกิจครอบครัวอยู่ในระดับเพียงพอสำหรับใช้จ่าย (ร้อยละ 52.8) จำนวนเงินที่ได้รับไว้ใช้จ่ายรายสัปดาห์ เฉลี่ย 658.18 บาท ร้อยละ 13.7 สูบบุหรี่ ร้อยละ 55.4 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทัศนคติต่อการไม่เล่นพนันแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทัศนคติดี ค่อนข้างดี และปานกลาง (x=2.50, S.D.=0.29) โดยทัศนคติที่ดี ได้แก่ การที่นักเรียนไม่คิดว่าการพนันทำให้ร่ำรวย ไม่ทำให้ตนหรือครอบครัวมีรายได้เพิ่ม และ ไม่ได้รู้สึกชื่นชมกับเพื่อนที่เล่นพนันได้ (X=2.84, 2.83 และ 2.78 ตามลำดับ) ส่วนทัศนคติปานกลาง มีความคิดเห็นที่ควรให้ความสนใจ คือ การที่วัยรุ่นไม่ห้ามเพื่อนหรือไม่หลีกเลี่ยงเมื่อเพื่อนชวนเล่นพนัน และ คิดว่าควรให้มีการเล่นพนันต่อไปในสังคมไทย (ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย) (x=2.21, 2.23 และ 2.28 ตามลำดับ) วัยรุ่นมีการเล่นพนันใน 6 เดือนที่ผ่านมาร้อยละ 20.5 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเล่นพนันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.001) คือ เพศ อายุ การศึกษา เงินค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์ที่ได้รับ การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีเพื่อน พ่อแม่ ญาติสนิทเล่นพนัน แหล่งการพนัน ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ภาระหนี้สินจากการพนันของคนในครอบครัว และ ทัศนคติต่อการพนัน ความน่าจะเป็นของการเล่นพนัน โดยเฉลี่ยเท่ากับ 0.2 และถูกอธิบายด้วยปัจจัยเสี่ยง 8 ตัว คือ ผลการเรียน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีเพื่อน พ่อแม่ ญาติสนิทเล่นพนัน สถานะเศรษฐกิจของครอบครัว และทัศนคติต่อการพนัน สามารถเขียนเป็นรูปสมการได้ดังนี้ การเล่นพนัน = 2.296-0.331 ผลการเรียน + 0.597 การสูบบุหรี่ + 0.583 การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ +1.563 การมีเพื่อนเล่นพนัน +0.582 การมีพ่อแม่เล่นพนัน +0.673 การมีญาติสนิทเล่นพนัน +0.212 สถานะเศรษฐกิจของครอบครัว –0.93 ทัศนคติต่อการพนัน ผลกระทบจากการพนัน พบว่า วัยรุ่นร้อยละ 40.1 ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง และมีถึงร้อยละ 34.1 ได้รับผลกระทบระดับสูง สรุปผลการศึกษา บุคคลในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดที่เล่นพนัน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลการเรียน ทัศนคติ และเศษฐานะครอบครัวที่ไม่ดี จะส่งผลให้วัยรุ่นเล่นพนันมากขึ้น และผลกระทบที่เกิดจากการเล่นพนัน ส่งผลทั้งด้านสุขภาพกาย จิตใจ การเรียนและการเงินของนักเรียน ซึ่งเป็นภาวะที่ควรได้รับการดูแลหรือแก้ไข ควรจัดมาตรการป้องกันการเล่นพนัน ในวัยรุ่นตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมประเทศ นั่นหมายถึง การสร้างเศรษฐกิจชาติจากคุณภาพของเยาวชน เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป

Keywords: การพนัน, วัยรุ่น, ปัจจัย, ผลกระทบ, ความสัมพันธ์, ครอบครัว, ทัศนคติ, แอลกอฮอล์, สุขภาพจิต, กรุงเทพ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล

Code: 2006000259

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี 2549 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

Download: