ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จุมภฏ พรมสีดา, สมจิตต์ ลุประสงค์, หยกฟ้า บุญชิต

ชื่อเรื่อง/Title: การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จังหวัดนครพนมและสกลนคร.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 5.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในปีงบประมาณ 2545-2547พบว่าจำนวนผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์เพิ่มมากขึ้น เฉลี่ย 90-100 คนต่อวัน ซึ่งมาจากจังหวัดนครพนมและสกลนครมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ทำให้ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) สูงกว่าที่ได้รับจัดสรรและเรียกเก็บ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการบริหารจัดการ ระบบบริการและการพัฒนาคุณภาพ โรงพยาบาลต้องทบทวนและหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยการทำความเข้าใจกับครอบครัวเพื่อให้มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน รวมทั้งเครือข่ายสาธารณสุขในชุมชนโดยให้บริการแบบ "ใกล้บ้านใกล้ใจ" เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตของประชาชนอย่างทั่วถึง วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในจังหัดนครพนมและสกลนคร ขอบเขตการวิจัย ผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัย ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ป่วยจิตเวช ครอบครัวและญาติผู้ป่วย ในจังหวัดนครพนมและสกลนคร ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการผู้ร่วมวิจัย 1,234 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 64 คน ผู้ป่วยจิตเวช 520 คน ครอบครัวและญาติ 650 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต และใช้แบบสอบถาม ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2548 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและใช้สถิติเชิงพรรณนา ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยจิตเวชรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง อัตรา Re-admission สูง ครอบครัวและญาติผู้ป่วยจิตเวช มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ มีความเครียดจากการดูแลผู้ป่วย ไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมรุนแรงของผู้ป่วย และดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่องไม่ได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีปัญหาในเชิงนโยบายและการจัดการรูปแบบบริการ และปัญหาด้านศักยภาพในการให้บริการสุขภาพจิต ต้องการให้สนับสนุนทั้งด้านวิชาการและบริการสุขภาพจิต วิธีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนมี 6 วิธีคือ 1) การทำความเข้าใจปัญหาร่วมกัน 2) สร้างความคุ้นเคยไว้วางใจ 3) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 4) ร่วมกันคิดหาวิธีดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช 5) สร้างข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติ และ 6) มีพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยจิตในชุมชน ได้แก่ 1) โครงการใจถึงใจ ใช้สิทธิ์บัตรทอง 2) โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย 3) โครงการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่บ้าน ซึ่งสนับสนุนให้การดูแลผู้ป่วยแบบใกล้ชิด-ใกล้ใจเกิดขึ้นได้จริง ข้อเสนอแนะ ควรขยายผลการมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชไปยังองค์กรท้องถิ่นอื่นๆ เช่น อบต. อบจ.

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, เครือข่าย, จิตเวชชุมชน, ใกล้บ้านใกล้ใจ, บริการสุขภาพจิต, โรคจิตเวช, การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน, การพัฒนาคุณภาพ, ครอบครัว, ญาติ, ชุมชน, ความเครียด, พฤติกรรม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์

Code: 200600026

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -