ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาอัตราความชุกของการเล่นวิดีโอและเกมคอมพิวเตอร์ในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการประจำปี 2549 ครั้งที่ 34 "จิตเวชศาสตร์และวิกฤตทางสังคม (Psychiatry and Social Crises), ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมสุขภาพจิต วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2549, ณ.โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ หน้า 32.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาข้อมูลด้านระบาดวิทยาของอัตราความชุกของการเล่นวิดีโอเกมและเกมคอมพิวเตอร์ในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ตลอดจนประเภทและรูปแบบของการเล่นเกม วิธีการศึกษา การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ณ จุดใดจุดหนึ่ง โดยการสำรวจนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนโฆสิตสโมสรทั้งหมดที่ยินยอมเข้าร่วมวิจัย ระหว่างวันที่ 16 ม.ค.-14 ก.พ. 2549 โดยให้เด็กนักเรียนและผู้ปกครองเป็นผู้ตอบแบบสอบถามได้แก่ แบบทดสอบการติดเกม (GAST) สำหรับเด็กและผู้ปกครองจำนวนอย่างละ 16 ข้อและแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมเกี่ยวกับการเล่นเกมสำหรับเด็ก จำนวน 15 ข้อ สำหรับผู้ปกครอง 10 ข้อ โดยใช้เกณฑ์ว่ามีปัญหาติดเกมเมื่อ GAST สำหรับเด็กมากกว่า 21 คะแนน และ/หรือ GAST สำหรับผู้ปกครองมากกว่า 26 คะแนน ผลการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่สมัครใจเข้าร่วมการศึกษามีจำนวน 249 คู่พบว่าเด็กนักเรียนร้อยละ 87.15 เคยเล่นวิดีโอเกมและเกมคอมพิวเตอร์และร้อยละ 18.47 (95%CI=14.1%,23.8%)เข้าข่ายติดเกม ส่วนใหญ่เล่นนานๆ ครั้ง เล่นเกมน้อยกว่า 1 ชั่วโมง/ครั้ง เริ่มเล่นเกมครั้งแรกเมื่ออายุ 7-8 ปี เริ่มเล่นเกมอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุ 10-12 ปี ส่วนใหญ่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ สถานที่เล่นส่วนใหญ่คือที่บ้านหรือที่พักอาศัยของตนเอง ไม่เคยเล่นเกมแข่งขันกับผู้อื่น ค่าใช้จ่ายในการเล่นเกมส่วนใหญ่ไม่เกิน 25 บาท/สัปดาห์ และพบว่า เพศชายผลการเรียนไม่ดี เล่นเกมออนไลน์หรือเกมอินเตอร์เน็ต มีการเล่นเกมแข่งขันกับผู้อื่นและใช้ร้านเกมหรือร้านอินเตอร์เน็ตเป็นสถานที่เล่นเกมมีอัตราการติดเกมสูงกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.01) สรุปผลการศึกษา เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เคยเล่นเกม (expose) และมีความชุกของการติดเกมใกล้เคียงกับเด็กมัธยมศึกษาหรือเด็กวัยรุ่น จึงควรให้ความสำคัญและศึกษาปัญหาติดเกมในเด็กวัยประถมศึกษามากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือและป้องกันภาวะเด็กติดเกมต่อไป

Keywords: วีดีโอเกม, เกมคอมพิวเตอร์, เด็กประถมศึกษา, การติดเกม, ระบาดวิทยา, นักเรียนประถม, GAST, เด็กติดเกมส์, ความชุก, เด็กติดเกม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

Code: 2006000262

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี 2549 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

Download: