ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ

ชื่อเรื่อง/Title: เพศวิปริต กับชีวิตที่คืนมาใหม่ กรณีศึกษาผลการใช้เทคนิคภาพยนตร์สั้นอิงวิถีชุมชนในการล้างบาปและนำผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนได้สำเร็จ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการประจำปี 2549 ครั้งที่ 34 "จิตเวชศาสตร์และวิกฤตทางสังคม (Psychiatry and Social Crises), ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมสุขภาพจิต วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2549, ณ.โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ หน้า 39.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. ศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นที่รังเกียจของชุมชน 2. ศึกษาวิถีชุมชนที่เป็นปัจจัยช่วยในการล้างบาปให้กับผู้ป่วย 3. ศึกษา และทดลองการใช้เทคนิคภาพยนตร์สั้นเพื่อใช้ เป็นสื่อกลางในการสื่อสารและทำความเข้าใจกับชุมชน 4. ติดตามผลสำเร็จของการใช้ภาพยนตร์สั้นในการล้างบาปและนำผู้ป่วยกลับสู่ชุมชน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ในอนาคต วิธีการศึกษา กรณีศึกษา แบบไปข้างหน้าไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย ญาติและผู้เกี่ยวข้องในชุมชนประชุมอภิปราย สร้างภาพยนตร์สั้นทดลองและประเมินผล ผลการศึกษา ผู้ป่วยชายอายุ 33 ปี ภูมิลำเนา จ. ร้อยเอ็ด ถูกประชาชนในชุมชนขับไล่และนำมาส่งโรงพยาบาลจิตเวชจากเหตุที่ร่วมเพศกับสุนัข ก้าวร้าวทุบทำลายพระพุทธรูปในวัด ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง ตอบสนองต่อการรักษาดี รู้สึกผิดและละอายกับการกระทำของตนขณะเจ็บป่วย แต่ชุมชนปฏิเสธไม่ยินยอมให้ผู้ป่วยกลับชุมชนจากทัศนคติว่าสิ่งที่ผู้ป่วยทำผิดบาปและน่ารังเกียจ สหวิชาชีพจึงทำการศึกษาโดยลงเยี่ยมสำรวจและหาข้อมูลเกี่ยวกับกัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนร่วมกับชุมชน พบว่าปัจจัยที่ส่งเสริมให้ชุมชนรังเกียจคือ 1. ประวัติการใช้สารเสพติด 2. พฤติกรรมในอดีต 3. กลัวอันตรายจากผู้ป่วย 4. ไม่รู้วิธีแก้ไขถ้าผู้ป่วยมีอาการและพบวิถีชุมชนที่เป็นปัจจัยช่วยในการแก้ไขปัญหาคือ 1. ความรักเมตตาที่มีต่อผู้ป่วยก่อนป่วย 2. พ่อแม่ของผู้ป่วยเป็นที่รักของชุมชนแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว 3. อยากให้ผู้ป่วยขอขมาเพื่อล้างบาปที่ทำมา จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมภาพยนตร์สั้นที่บูรณาการการให้ความรู้เรื่องโรคจิต อาการ การดูแลและการฟื้นฟูเน้นว่าชุมชนเป็นหลักในการช่วยให้หายป่วยและฉายภาพยนตร์ทุกครั้งที่ลงเยี่ยมชุมชนในระยะเวลา 5 เดือน โดยนำเสนอภาพของผู้ป่วยก่อนและหลังการรักษาและ การแสดงความเสียใจต่อความเสียหายที่เกิดจากตนและอยากขอขมากับชุมชน ภายหลังการใช้ภาพยนตร์สั้นอิงวิถีชุมชนเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ชุมชนอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านและรับการขอขมาจากผู้ป่วยปัจจุบันผู้ป่วยอาศัยในชุมชนมีญาติดูแลอาการทางจิตสงบและช่วยทำงานในวัดได้ สรุปผลการศึกษา การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยจิตเภทที่ชุมชนรังเกียจต้องอาศัยชุมชนเป็นหลัก การอิงวิถีชุมชนในการวางแผนงานและการใช้นวัตกรรมภาพยนตร์สั้นช่วยส่งเสริมการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพได้รับความร่วมมือและชุมชน รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

Keywords: เพศวิปริต, จิตเภท, ชุมชน, จิตเวชชุมชน, ภาพยนตร์สั้น, ทัศนคติ, จิตเวชศาสตร์, ร้อยเอ็ด, โรคจิตเวช, ผู้ป่วยจิตเวช, สหวิชาชีพ, การดูแลผู้ป่วยในชุมชน, วิถีชุมชน, หวาดระแวง, พฤติกรรม, สารเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2006000269

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปี 2549 ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ

Download: