ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: น้ำผึ้ง สุจำนง

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลสุขภาพจิตตนเอง ครอบครัวและชุมชน: กรณีศึกษาบ้านโคกป่าจิก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 54.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองครอบครัว เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนางานสุขภาพจิตชุมชน โดยพยาบาลจิตเวชเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการพัฒนา จากการวิเคราะห์สถานการณ์เบื้องต้นพบว่า ชุมชนบ้านโคกป่าจิกมีต้นทุนทางสังคมที่จะพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลสุขภาพจิตแบบบูรณาการได้ จึงได้ดำเนินการวิจัยปฏิบัติการ เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานสุขภาพจิตโดยผสมผสานเข้ากับกระบวนการ มีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพของชุมชน ในการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิต การดำเนินงานวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะก่อนปฏิบัติการ ระยะปฏิบัติการ ระยะวิเคราะห์ประเมินผล ผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แกนนำชุมชนและชาวบ้านซึ่งได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยชุมชนตามกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วมรวมทั้งการใช้แบบประเมินตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหาและใช้สถิติเชิงบรรยาย ผลการวิจัย พบว่าชุมชนมีต้นทุนทางสังคม ได้แก่ ทุนทางสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา และความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนดำเนินการในรูปแบบโครงการจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการน้ำใจใสสะอาด 2) โครงการชุมชนร่วมแรงร่วมใจพัฒนา 3) โครงการเศรษฐกิจดีอยู่ดีกินดี 4) โครงการเพื่อสุขภาพ 5) โครงการสังคมพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุ จากการติดตามประเมินผลพบว่า มีรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจนในกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ การสร้างผลผลิตและรายได้ การธำรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้บรรลุตัวชี้วัดที่ชุมชนตั้งไว้ และผลจากการเปรียบเทียบภาวะความเครียดของชาวบ้าน ก่อนและหลังดำเนินโครงการมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยหลังดำเนินโครงการมีค่าคะแนนความเครียดลดลง บทเรียนที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานคือเป็นชุมชนขนาดเล็กจำนวนประชากรไม่มาก ชุมชนได้ผ่านการพัฒนามาบ้าง แกนนำชุมชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มีความมุ่งมั่น เสียสละ มีความเป็นผู้นำ มีความชัดเจนของผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับและมีการบันทึกเพื่อติดตามการดำเนินงาน โดยสรุป การวิจัยครั้งนี้เป็นแนวทางใหม่ของการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลสุขภาพจิตที่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้ชุมชนเห็นความสำคัญในการส่งเสริม สุขภาพจิตที่ดีของตนเอง ครอบครัวและชุมชนโดยผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่จริงของคนในชุมชน

Keywords: สุขภาพจิต, การมีส่วนร่วมของชุมชน, สุขภาพจิตครอบครัว, สุขภาพจิตชุมชน, ชุมชนบ้านโคก, ครอบครัว, ชุมชน, การพัฒนา, การดูแล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถานีอนามัยย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

Code: 200600027

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -