ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สรานุช จันทร์วันเพ็ญ

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลของโปรแกรมการเสริมสร้างความเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยใช้ satir model เป็นพื้นฐาน

แหล่งที่มา/Source: โครงการประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 "ก้าวต่อไปในการเรียนรู้ สู่โลกแห่งนวัตกรรม",28-30 มิถุนายน 2549, ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ จ.เชียงราย

รายละเอียด / Details:

ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ส่งผลให้ทุกชีวิตในสังคมต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวได้ เกิดความเครียด และความคัดข้องใจอย่างมาก จนกระทั่งเกิดการทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่ยากนัก ซึ่งจากการศึกพบว่าสาเหตุลำดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดการทำร้ายตนเอง จนอาจถึงฆ่าตัวตายนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง มองว่าตนเองไร้ค่า (low self-esteem) และจากทฤษฎีทางจิตวิทยาชี้ให้เห็นความสำคัญของการค้นหาตนเองในวัยรุ่น ว่าเป็นลักษณะพัฒนาการที่สำคัญประจำวัยซึ่งเด็กวัยรุ่นจะต้องพัฒนาให้ "พบตน" จึงจะผ่านพ้นภาวะวิกฤตในวัยรุ่น และเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่มั่นคงได้ กลุ่มงานจิตวิทยา โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จึงได้จัดทำโปรแกรมการเสริมสร้างความเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) โดยใช้ satir model เป็นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นวิธีที่ช่วยให้เกิดการเข้าใจตนเองได้อย่างลึกซึ้งและรวดเร็ว อีกทั้งเป้าหมายอย่างหนึ่งของ satir model ก็คือการเพิ่มความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อให้สามารถปรับตัวหรือเผชิญกับปัญหาและความคับข้องใจต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม กลุ่มประชากรในการศึกษาครั้งนี้ คือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Sample) หลังจากนั้นสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เพื่อคัดเลือกเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3/4 โรงเรียนสนามบิน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 12 คน ที่มีระดับความเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) ค่อนข้างน้อยถึงค่อนข้างมาก ประเมินจากแบบวัดความเห็นคุณค่าในตนเองของคูเปอร์สมิท แปลเป็นไทยโดยนาตยา วงศ์หลีกภัย( 2532) และใช้การทดสอบค่าที่ (t-test) ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบวัดก่อนและหลังในกลุ่มทดลอง รวมทั้งเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยมีสมมติฐานว่าระดับความเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างความเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างความเห็นคุณค่าในตนเอง และระดับความเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนที่เข้าร่วมโปรแกรมการเสริมสร้างความเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทดลอง

Keywords: satir model, self-esteem, ฆ่าตัวตาย, คุณค่าในตนเอง, ความเครียด, ทำร้ายตนเอง, พยายามฆ่าตัวตาย, คุณค่า, วัยรุ่น, โปรแกรมการเสริมสร้างคุณค่าในตนเอง, สุขภาพจิต, นักเรียนมัธยม, ขอนแก่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: กลุ่มงานจิตวิทยา โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 20060003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2549 จ.เชียงราย

Download: