ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จันทนา ศรีวิศาล, นพรัตน์ ไชยชำนิ, จลี เจริญสรรพ์

ชื่อเรื่อง/Title: การดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนจากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิสู่ชุมชนโดยใช้ระบบการจัดการผู้ป่วยรายกรณี(case management).

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 49.

รายละเอียด / Details:

การดูแลผู้ป่วยจิตเภทซึ่งเป็นโรคเรื้อรังต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูสมรรถภาพ เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง การรักษาพยาบาลค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อนต้องใช้หลายวิชาชีพในการดูแล อีกทั้งระบบบริการสุขภาพแบบเดิม พบว่า ไม่สามารถให้การดูแลแบบองค์รวมได้บุคลากรเน้นทำงานให้ทันเวลาตามหน้าที่ ขาดการติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันระหว่างทีมสุขภาพผู้ป่วยจึงได้รับการดูแลแบบแยกส่วน ผลที่ตามมา คือ ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาที่ช้ากว่าที่ควร ทำให้การฟื้นหายช้า ระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาลนาน ค่าใช้จ่าย สูงไม่คุ้ม กับผลที่ได้รับจึงจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบการรักษาพยาบาล ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้บริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการอย่างแท้จริง วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยจิตเภทและครอบครัวได้รับการดูแลครอบคลุมแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน 2. ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับบริการที่ถูกต้องตามมาตรฐานแต่ละวิชาชีพโดยทีมสหวิชาชีพ (ประกันคุณภาพบริการ) 3. จัดสรรทรัพยากรในการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ลดความซ้ำซ้อนของงาน/กิจกรรมที่ไม่จำเป็น 4. ลดระยะวันนอนในโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ขอบเขตของการศึกษา ศึกษาในผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนตามเกณฑ์ผู้ป่วยซับซ้อนที่กำหนดและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547-2549 วิธีดำเนินงาน ขั้นตอนการปฏิบัติการจัดการผู้ป่วยรายกรณีสำหรับผู้ป่วยจิตเภท 1) การพิจารณาคัดเลือกผู้ป่วยเข้าระบบโครงการ 2) พยาบาลผู้จัดการประเมินสภาพผู้ป่วยและความต้องการดูแล 3) วางแผนการ 4) ปฏิบัติการดูแล 5) ประเมินผลการปฏิบัติ ผลการดำเนินงาน พบว่าผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนได้รับการดูแลจากทีมสหวิชาชีพที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามวิชาชีพ โดยดูแลครอบคลุมแบบองค์รวมและต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน ส่งผลให้จำนวนวันนอนในโรงพยาบาลเฉลี่ยของผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนเท่ากับ 24.36 วัน ความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อบริการที่ได้รับอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด 86% ความพึงพอใจของญาติผู้ป่วยต่อบริการที่ได้รับอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด 100% อัตราการกลับมารักษาซ้ำ ภายใน 28 วัน ของผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนเท่ากับ 12 ราย คิดเป็น 4.49% และผู้ป่วยสามารถอยู่ในชุมชนได้นานเกิน 3 เดือน มากกว่าร้อยละ 80 และมีคุณภาพชีวิตระดับมากกว่าร้อยละ 80 ข้อเสนอแนะ ควรนำระบบ Case management มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทซับซ้อนและผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหาความซับซ้อนในการดูแลพยาบาลอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน เนื่องจากสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้มาตรฐานและครอบคลุมแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่องโดยทีมสหวิชาชีพ

Keywords: จิตเภท, ตติยภูมิ, จิตเวชชุมชน, การจัดการผู้ป่วยรายกรณี, case management , การพยาบาลจิตเวช, ระบบบริการจิตเวช, องค์รวม, การบำบัด, ครอบครัว, ผู้ป่วย, การดูแล, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: งานจิตเวชชุมชน โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 200600031

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -