ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชาต ดำรงไชย

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาแบบประเมินอาการถอนแอลกอฮอล์.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 80-81. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

แอลกอฮอล์จัดเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ผู้ที่ใช้ ในปริมาณมาก และ/หรือใช้ติดต่อกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะมีอาการติดหรือพึ่งพาแอลกอฮอล์ และเมื่อหยุดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มลงจะเกิดอากรถอนแอลกอฮอล์ เมื่อผู้ป่วยมีอาการแอลกอฮอล์จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแบบประเมินอาการถอนแอลกอฮอล์ ตามเกณฑ์วินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 (DSM-IV) และเพื่อหาคุณภาพของแบบประเมินอาการถอนแอลกอฮอล์ที่สร้างขึ้น และความสัมพันธ์กับแบบประเมินมาตรฐาน คือ The revise clinical Institute Withdrawal Assessment for Alcohol scale ขอบเขตการวิจัย การศึกษาครั้งนี้มุ่งพัฒนาแบบประเมินอาการถอนแอลกอฮอล์ โดยอาศัยกรอบของข้อคำถามอาการถอนแอลกอฮอล์ ตามเกณฑ์วินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เพื่อ ให้ได้แบบประเมินที่มีมาตรฐาน เหมาะสม ทันสมัย ง่าย และสะดวกต่อการนำไปใช้โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้จะจำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการถอนแอลกอฮอล์ ที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในของโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ เท่านั้น สรุปผลการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มแอลกอฮอล์และมีอาการถอนแอลกอฮอล์ที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้จำนวน 38 คน ทั้งหมดเป็นเพศชาย ส่วนมากมีอายุ 40-49 ปี คิดเป็นร้อยละ 47.4 สำหรับสถานภาพสมรสส่วนใหญ่แต่งงานมีครอบครัวแล้วคิดเป็นร้อยละ 57.9 การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา และ มัธยมศึกษา มีจำนวนเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 44.7 สำหรับอาชีพพบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างคิดเป็นร้อยละ 44.7 ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 1,001-5,000 บาทคิดเป็นร้อยละ 42.1 ด้านพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์พบว่า ส่วนใหญ่เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 20-24 ปี โดยระยะเวลาที่ดื่มนั้นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ดื่มมานาน 21-25 ปี และสำหรับญาติที่ติดแอลกอฮอล์พบว่าส่วนใหญ่มีบิดาติดแอลกอฮอล์ เมื่อนำแบบประเมินอาการถอนแอลกอฮอล์ที่พัฒนาขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 11 ด้าน พบว่า อาการที่พบบ่อย คือ มือสั่น มีค่าเฉลี่ย 2.60 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .50 รองลงไปคือการรับรู้เวลา สถานที่ บุคคล มีค่าเฉลี่ย 2.53 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.22 ส่วนอาการที่พบน้อยคือ อาการชัก ทั้งตัวมีค่าเฉลี่ย .23 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .43 ซึ่งแบบประเมินดังกล่าวก่อนที่จะนำไปใช้ได้มีการทดลองใช้กับกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน พบว่าค่าความสอดคล้องภายในหรือค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามที่สร้างขึ้นมีค่าความเชื่อมั่น โดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (cronban, s Alpha coefficient) เท่ากับ .76 จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 38 คน โดยการหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างแบบประเมินอาการถอนแอลกอฮอล์ที่พัฒนาขึ้นกับแบบประเมินของ CIWA-Ar พบว่าทั้งสองชุดมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

Keywords: แอลกอฮอล์, สารเสพติด, ยาเสพติด, เหล้า, สุรา, แบบประเมิน, โรงพยาบาลสวนปรุง, ติดอัลกอฮอล์, พฤติกรรม, alcohol, ถอนแอลกอฮอล์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต

Code: 0000004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -