ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วนิดา พยัคฆพงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของกระบวนการกลุ่มต่ออัตมโนทัศน์และพฤติกรรมทางสังคมของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 75.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมักจะมีการรับรู้ต่อตนเองหรืออัตมโนทัศน์ในด้านลบ และมัก จะแสดงพฤติกรรมทางสังคมไม่เหมาะสมในครอบครัวและชุมชน พฤติกรรมทางสังคมของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวผู้ป่วยอย่างมาก หากผู้ที่เป็นโรคจิตเภทไม่ได้รับการช่วยเหลือและแก้ไข จะส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมีความเสื่อมเสียอย่างมากในด้านการทำงานและการเข้าสังคม และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอื่นๆ ผู้ที่เป็นโรคจิตเภท จึงต้องการการดูแลที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง กระบวนกลุ่มเป็นวิธีการบำบัดวิธีหนึ่งที่ใช้บำบัดบุคคลหลายคนพร้อมกัน โดยอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มีการทำงานหรือมีกิจกรรมร่วมกัน ช่วยให้ผู้ป่วยมีความสามารถต่อการปรับตัวต่อภาวะเจ็บป่วยโดยเฉพาะการเจ็บป่วยที่เรื้อรังได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัตถุประสงค์การวิจัย เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลอง เพื่อศึกษาผลของการใช้กระบวนการกลุ่มในการส่งเสริมอัตมโนทัศน์และพฤติกรรมทางสังคมของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทที่ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในครั้งแรก ณ แผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 จำนวน 16 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 8 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบประเมินสุขภาพผู้ป่วย HoNOS (Health of the Nation Outcome Scales) แผนการใช้กระบวนการกลุ่มในการส่งเสริมอัตมโนทัศน์ และแบบประเมินพฤติกรรมทางสังคมของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท แบบประเมินผลการเข้ากลุ่ม แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแบบวัดอัตมโนทัศน์ และแบบประเมินพฤติกรรมทางสังคม วิเคราะห์ตามวิธีการทางสถิติ ด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบทีสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้อง (paired samples t-test) และการทดสอบค่าทีสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอิสระต่อกัน (t-test for independent samples) สรุปผลการวิจัย คะแนนอัตมโนทัศน์และพฤติกรรมทางสังคมของกลุ่มทดลอง ภายหลังการทดลองมีคะแนนสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹.05) ข้อเสนอแนะ ผลจากการวิจัยครั้งนี้ พบว่า การใช้กระบวนการกลุ่ม สามารถส่งเสริมอัตมโนทัศน์และพฤติกรรมทางสังคมของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทให้มีอัตมโนทัศน์ในทางที่ดี และมีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลลัพธ์ทางการรักษาและผลลัพธ์ทางการพยาบาลทีดีขึ้น

Keywords: กระบวนการกลุ่ม, จิตเภท, โรคจิตเภท, โรคจิต, พฤติกรรมทางสังคม, อัตมโนทัศน์, พฤติกรรม, ครอบครัว, ชุมชน, สังคม, กิจกรรม, กระบวนการ, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

Code: 200600035

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -