ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุนทรี ศรีโกไสย, ภัทราภรณ์ ทุ่งปันคำ, พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์

ชื่อเรื่อง/Title: counseling: มุมมองของผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายในชุมชน.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 90.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การให้บริการปรึกษาเป็นวิธีการหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย หากผู้ให้การปรึกษาเข้าใจปรากฏการณ์ของบริการปรึกษาที่ได้รับตามคำบอกเล่าของผู้รับบริการ จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงวิธีการปรึกษาให้สอดคล้องกับผู้รับบริการที่มีความหลากหลายในมิติทางวัฒนธรรมและความเชื่อ วัตถุประสงค์ การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามุมมองของผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายในชุมชนต่อบริการปรึกษาที่เคยได้รับ โดยมีวัตุประสงค์เฉพาะดังนี้ การค้นหาความหมายของการให้การปรึกษาตามมุมมองของผู้ที่เคยพยามยามฆ่าตัวตาย เทคนิคและวิธีการการปรึกษาที่ได้รับตลอดจนคุณสมบัติของผู้ให้การปรึกษา ขอบเขตการวิจัย ศึกษาในผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายในอำเภอที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงของจังหวัดเชียงใหม่ และเคยได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี ก่อนการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-เดือนตุลาคม 2548 ระเบียบวิธีวิจัย ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ที่เคยได้รับบริการปรึกษาในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ด้วยปัญหาการพยายามฆ่าตัวตาย ได้มาโดยการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึกร่วมกับการบันทึกภาคสนามจนข้อมูลมีความอิ่มตัวในรายที่ 20 และใช้การสนทนากลุ่มเพื่อตรวจสอบความตรงของข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัย การให้ความหมายของบริการปรึกษาตามมุมมองของผู้ให้ข้อมูล แบ่งออกเป็น 7 ความหมาย คือ การให้คำแนะนำ การอบรมสั่งสอน การให้กำลังใจ การให้แนวทางแก้ไขปัญหา การพูดคุยที่เป็นกันเอง การให้ได้พูดระบายออกมา และการเข้าถึงแก่นของปัญหา สำหรับวิธีการให้การปรึกษาที่ได้รับพบว่ามี 5 วิธีด้วยกันคือ การแนะนำ การถาม การสะท้อนคิด การให้ข้อมูล และการให้แนวทางแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ผู้ให้ข้อมูลยังเสนอความจำนงในวิธีการปรึกษาที่ต้องการ ได้แก่ การที่ผู้ให้การปรึกษาช่วยประคับประคองจิตใจก่อนและการพูดคุยถึงประเด็นสาเหตุปัญหาอย่างแท้จริง และผู้ให้ข้อมูลบางรายแสดงความจำนงที่จะไม่ถูกถามถึงความคิดฆ่าตัวตายซ้ำอีก ส่วนคุณลักษณะของผู้ให้การปรึกษาที่ผู้ให้ข้อมูลมีความประทับใจและต้องการให้คงอยู่ได้แก่ ท่าทีของความเป็นมิตร ความไว้ใจได้ การเข้าถึงตัวผู้รับบริการ การที่ผู้ให้การปรึกษาเป็นคนสวย รูปร่างดี พูดไพเราะและมีเหตุผล ส่วนคุณสมบัติที่เป็นที่ไม่ต้องการคือการพูดในเชิงตำหนิ และผู้ให้ข้อมูลยังประสงค์ที่จะให้ผู้ให้การปรึกษามีคุณลักษณะที่ประกอบด้วย การมีท่าทางของความสุภาพ นิ่มนวล พูดเพราะ ให้กำลังใจ เป็นกันเอง มีเหตุผล ไม่ตำหนิหรือดุด่า และมีอารมณ์ขัน ข้อเสนอแนะ จากผลการศึกษาจะเห็นว่า ความหมายและวิธีการให้การปรึกษาที่ผู้เคยพยายามฆ่าตัวตายได้รับมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของผู้รับการปรึกษา นอกจากนี้บางเทคนิค เช่น การถามถึงความคิดฆ่าตัวตายซ้ำเป็นประเด็นที่ควรได้รับการศึกษาต่อไป เพื่อนำมาปรับปรุงวิธีการให้การปรึกษาให้ตรงตามความต้องการของผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด

Keywords: ให้การปรึกษา, ฆ่าตัวตาย, พยายามฆ่าตัวตาย, บริการปรึกษา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, บริการจิตเวช, ชุมชน, การช่วยเหลือ, สถิติ, สุขภาพจิต, ผู้ให้การปรึกษา, คุณสมบัติ, counseling

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 200600041

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -