ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดารกา แสงสุกใส, ฉัตรชัย วงศ์ศรี, สุจิตรา สุขเกษม, วรรณภา เปรมปรีดา

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการใช้โปรแกรมเสริมสร้างพลังชีวิตต่อความสามารถเชิงจิตสังคมของเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จังหวัดภูเก็ต.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 114.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ภัยพิบัติสึนามิมีผลกระทบต่อจิตใจประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ต้องได้รับการดูแลและฟื้นฟูทางจิตใจอย่างเป็นระบบต่อเนื่องในระยะยาว การดูแลและฟื้นฟูทางจิตสังคมสำหรับเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในระยะยาวเป็นการดูแลเพื่อให้สามารถปรับตัว จัดการกับอารมณ์ อยู่ร่วมและมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขเหมือนเช่นก่อนเกิดเหตุการณ์ พร้อมกับเตรียมการก้าวผ่านภาวะวิกฤตทางจิตใจตามช่วงวัยสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะแห่งตนมีความรับผิดชอบ และมีพลังในการทำสิ่งที่ดีงามต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โปรแกรมเสริมสร้างพลังชีวิตพัฒนาจากทักษะชีวิต (กรมสุขภาพจิต, 2541) พัฒนาทางจิตใจในวัยรุ่น (Erikson, 1969) และพลังชีวิต (Satir, 1961) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมให้เยาวชนเรียนรู้ และตระหนักในศักยภาพ คุณค่าและรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) ตามเป้าหมายการดำเนินงานด้านส่งเสริมปัองกันปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชน วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสามารถเชิงจิตสังคมของเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จังหวัดภูเก็ต โดยใช้โปรแกรมเสริมสร้างพลังชีวิต ขอบเขตการวิจัย เยาวชนที่ได้รับผลกระทบฯ อายุระหว่าง 10-19 ปี จำนวน 200 คน ที่กำลังศึกษาในสถานศึกษาจังหวัดภูเก็ต เดือนธันวาคม 2548 ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 155 คน คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด (เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ประเมินด้วยแบบประเมิน PTSD อยู่ในเกณฑ์ปกติ สมัครใจเข้าร่วมการวิจัย) ตัวแปรที่ต้องการศึกษาคือความสามารถเชิงจิตสังคมของเยาวชน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมเสริมสร้างพลังชีวิต แบบประเมิน PTSD แบบประเมินทักษะชีวิต แบบสะท้อนความคิดเห็นจากครู เยาวชน และผู้ปฏิบัติงานจากองค์กรส่วนท้องถิ่น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ความถี่ paired t-test สรุปผลการวิจัย พบว่าหลังการดำเนินโปรแกรม เยาวชนมีคะแนนความสามารถเชิงจิตสังคมสูงกว่าก่อนดำเนินโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านในแต่ละองค์ประกอบพบว่าคะแนนด้านความคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ การสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสาร การตระหนักในศักยภาพความภาคภูมิใจในตนเองสูงกว่าก่อนดำเนินกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่คะแนนด้านความเห็นใจผู้อื่นการตัดสินใจแก้ปัญหาและความรับผิดชอบต่อสังคมไม่แตกต่างจากก่อนดำเนินกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อเสนอแนะ ควรดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความสามารถทางจิตสังคมของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเยาวชน และพัฒนาโปรแกรมเสริมสร้างพลังชีวิตเป็นเทคโนโลยีส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเยาวชนต่อไป

Keywords: โปรแกรมเสริมสร้างพลังชีวิต, จิตสังคม, ฟื้นฟูจิตใจ, ปัญหาสุขภาพจิต, ภัยพิบัติ, , สึนามิ, ทักษะ, สุขภาพจิต, เยาวชน, พลังชีวิต, จิตเวชชุมชน, วัยรุ่น, satir, self esteem, PTSD

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต

Code: 200600042

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -