ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิราภรร์ นพคุณขจร, ดวงเดือน ไชยน้อย, ผ่องพรรณ รัตนะเศรษฐากุล, เมตตา มะโนสรีและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการเจ็บป่วยทางจิตและความเข้มแข็งในการมองโลกของผู้ประสบภัยและญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 110-111.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ นอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินต่อผู้ประสบภัยพิบัติแล้วยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงทั้งต่อผู้ประสบภัยเองและญาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาเช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า, อาการผิดปกติของความเครียดหลังภัยพิบัติ การใช้สารเสพติดและอาจลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย แต่ถ้าบุคคลเหล่านั้นสามารถเผชิญกับเหตุการณ์และความเครียดได้อย่างเหมาะสมก็จะไม่นำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิต ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ และปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลสามารถเผชิญกับความเครียดได้ดีคือความเข้มแข็งในการมองโลก วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการเจ็บป่วยทางจิตและความเข้มแข็งในการมองโลกของผู้ปราบภัยพิบัติและญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ขอบเขตการวิจัย กลุ่มประชากรที่ศึกษาได้แก่ ผู้ประสบภัยพิบัติและญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 102 ราย ระเบียบวิธีวิจัย คัดเลือกผู้ประสบภัยและญาติตามรายชื่อของสาธารณสุขจังหวัด 8 จังหวัดในภาคเหนือ จำนวน 102 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้างเพื่อการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (M.I.N.I) ฉบับภาษาไทย และแบบสอบถามความเข้มแข็งในการมองโลกของ กนกพร สุคำวัง (2540) ที่ดัดแปลงมาจากแบบวัดความเข้มแข็งในการมองโลกของ แอนโทนอฟสกี (Antonovsky, 1987) หาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟาของ ครอนบาค มีค่าเท่ากับ 0.95 เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนมกราคม 2549 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา สรุปผลการศึกษา ร้อยละ 33.33 ของผู้ประสบภัยพิบัติ และญาติผู้ประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีการเจ็บป่วยทางจิต และมีการเจ็บป่วยทางจิตเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้ ร้อยละ 31.3 มีภาวะวิตกกังวล (Anxiety) ร้อยละ 27.6 มีอาการผิดปกติของความเครียดหลังภัยพิบัติ (PTSD) ร้อยละ 22.25 มีภาวะซึมเศร้า (Depress) ร้อยละ 17.6 มีการใช้สุรา (Alcohol Abuse/dependence) ร้อยละ 12.7 มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย (Suicidal) และผู้ที่มีการเจ็บป่วยทางจิตมากกว่าร้อยละ 50 มีระดับความเข้มแข็งในการมองโลกอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ ข้อเสนอแนะ ควรมีการจัดทำโปรแกรมหรือคู่มือในการวางแผนดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและญาติผู้ประสบภัยพิบัติหลังภัยพิบัติ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาให้มีระดับความเข้มแข็งในการมองโลกที่สูงขึ้น โดยเฉพาะด้านให้ความหมายและด้านความเข้าใจเพื่อให้สามารถเผชิญกับปัญหาได้เหมาะสม ป้องกันการเกิดปัญหาทางจิตที่รุนแรงต่อไป และควรมีการเตรียมความพร้อมในด้านการช่วยเหลือทางจิตใจของชุมชนและบุคลากรในพื้นที่เสี่ยงในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

Keywords: สึนามิ, สุขภาพจิต, ภาวะวิตกกังวล, ภาวะซึมเศร้า, ความเครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 200600048

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -