ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาลและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การทดสอบความแม่นตรงของแบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยในภาวะวิกฤติ.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 106-107.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล แบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยในภาวะวิกฤติสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยกรมสุขภาพจิตซึ่งมีขั้นตอนของการพัฒนาเครื่องมืออย่างเป็นระบบระเบียบแบบแผนตามหลักการสร้างเครื่องมือพบว่ามีความเที่ยงแต่ยังขาดการทดสอบความแม่นตรงสำหรับคัดกรองความผิดปกติทางจิตภายหลังประสบภัยพิบัติในพื้นที่และยังไม่มีจุดตัดคะแนน (out-off point) ค่าความไว (sensitivity) และค่าความจำเพาะ (specificity) วัตถุประสงค์ 1) เพื่อทดสอบความแม่นตรงของแบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยในภาวะวิกฤติ โดยเปรียบเทียบกับการวินิจฉัยโรค PTSD จากจิตแพทย์ซึ่งใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคตาม DSM-IV 2) เพื่อหาค่าคะแนนจุดตัด (cut-off point) ค่าความไว (sensitivity) และค่าความจำเพาะ (specificity) ของแบบคัดกรอง ขอบเขตการวิจัย งานวิจัยนี้เป็นงานสำรวจสัมภาษณ์ชาวบ้านทั่วไปซึ่งประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดสงขลา เมื่อเดือนธันวาคม 2548 ที่ยังไม่แยกว่ามีปัญหาสุขภาพจิต/ป่วยทางจิตหรือไม่ ระเบียบวิธีวิจัย 1. ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ได้จากสูตรคำนวณ N=Z กำลัง 2 (sens)(1-sens)/d กำลัง 2 ดดยกำหนดค่า sensitivity 90% prevalence of mental problem 63.8% , d=0.05 ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 270 คน 2. การสุ่มตัวอย่าง ใช้ผู้ประสานงานพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์และนัดหมายให้ประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และประสบภัยน้ำท่วมและสมัครใจมาพบนักวิจัยที่สถานีอนามัยใกล้บ้านในวันที่ 24-26 มกราคม 2549 3. ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าคะแนนที่ได้จากการทำแบบคัดกรอง (มีคะแนนระหว่าง 0-18 คะแนน) เปรียบเทียบกับการวินิจฉัยโรค posttraumatic stress disorder (PTSD) ตาม DSM-IV จากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 1 ใน 2 คน ซึ่งมี kappa ≥ 0.8 ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานทองคำ (gold standard) 4. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ 1) แบบสอบถามโดยใช้การสัมภาษณ์ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลประชากรศาสตร์และเหตุการณ์ประสบภัยที่เคยได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นมีคำถามทั้งหมด 23 ข้อ ส่วนที่ 2 เป็นแบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตคนไทยในภาวะวิกฤติมีคำถาม 18 ข้อ คำตอบเป็น 2 ตัวเลือกคือ ไม่ใช่= 0, ใช่ = 1 2)แบบบันทึกเกณฑ์การวินิจฉัยโรค posttraumatic stress disorder (PTSD) ตาม DSM-IV ซึ่งจิตแพทย์จะสัมภาษณ์ตามเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมสรุปคำวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD หรือไม่ 5. การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยผู้ประสานงานพื้นที่นัดประชาชนที่ประสบภัยจาก 300 ครัวเรือนและสมัครใจมาตรวจกับคณะผู้วิจัยที่ลงพื้นที่ในวันที่ 24-26 มกราคม 2549 ณ สถานีอนามัยทั้ง 3 แห่ง คือ คลองอู่ตะเภา คานลัง และคูเต่า ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะผู้วิจัยประกอบด้วยทีมพยาบาลจาก โรงพยาบาลประสาทสงขลา สัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามและให้ตอบแบบคัดกรองนี้ทุกราย จากนั้นสุ่มเลือกผู้ที่มีค่าคะแนนระหว่าง 0-5 มาร้อยละ 10 และเลือกทุกคนที่มีค่าคะแนนมากกว่า 5 ขึ้นไป ส่งพบจิตแพทย์ 1 ใน 2 สำหรับวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ไม่ทราบค่าคะแนน 6. การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อหาจุดตัดที่เหมาะสมและค่าความไว (sensitivity) ความจำเพาะ (specificity)ของเครื่องมือคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตคนไทยในภาวะวิกฤติ จากนั้นวิเคราะห์หาค่าความสอดคล้องภายในคำถาม (internal consistency) และความแม่นตรงตามโครงสร้าง (construct validity) จากการวิเคราะห์องค์ประกอบ (factor analysis) สรุปผลการวิจัย จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 298 คน เป็นหญิงมากกว่าชาย (เป็นหญิงร้อยละ 79.2) สถานภาพสมรส (ร้อยละ 72.5) อายุระหว่าง 19-89 ปี เฉลี่ย 49.4 ปี (SD 15.4) อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมและแม่บ้าน การศึกษาระดับประถม (ร้อยละ 63.4) ไม่เคยใช้สารเสพติด (ร้อยละ 71.8) เกือบครึ่งหนึ่งมีประวัติสูญเสียบุคคลในครอบครัว (ร้อยละ 45.6) ประสบเหตุการณ์สะเทือนใจจากภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อเดือนธันวาคม 2548 (ร้อยละ 94) ขณะอยู่ในบ้าน (ร้อยละ 87.9) ส่วนมากสะเทือนใจเพราะสูญเสียทรัพย์สิน (ร้อยละ 56.7) ไม่มีญาติเสียชีวิต (ร้อยละ 97) ไม่ได้รับบาดเจ็บ (ร้อยละ 86.5) ส่วนมากเคยประสบภัยน้ำท่วมมาก่อน (ร้อยละ 58.1) ชาวบ้านรับรู้ว่าภัยครั้งนี้มีความรุนแรงน้อยกว่า (ร้อยละ 83.6) ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือต้องหยุดพักงานถึงร้อยละ 51.0 ส่วนมากได้รับการช่วยเหลือ (ร้อยละ 93.6) เกือบทั้งหมดเป็นด้านวัตถุ (ร้อยละ 92) ช่วยเหลือด้านจิตใจมีเพียง ร้อยละ 2.7 ค่าคะแนนที่ได้จากแบบคัดกรอง เฉลี่ย 2.19 (SD 3.96) อัตราความชุกโรค PTSD ที่ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ พบร้อยละ 10.4 ค่าจุดตัดที่เหมาะสมคืดตั้งแต่ 2 ขึ้นไป มีความไว ร้อยละ 74.2 แต่มีค่าความจำเพาะร้อยละ 58.5 ค่าความถูกต้องร้อยละ 70.2 ค่าสอดคล้องภายในข้อคำถามเป็น Cronbach alpha coefficient= 0.94 วิเคราะห์โครงสร้างได้ 3 องค์ประกอบคือ 1) อาการเป็นทุกข์จากการระลึกเหตุการณ์โดยไม่ต้องการ ครอบคลุมตัวแปรได้ร้อยละ 26.0 2) อาการซึมเศร้าครอบคลุมตัวแปรได้ร้อยละ 20.6 3) สมาธิและการรับรู้ลดลง ครอบคลุมตัวแปรได้ร้อยละ 19.06 ข้อเสนอแนะ การจำนำเครื่องมือนี้ไปใช้ในการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในคนไทยที่ประสบภัยในระยะวิกฤติมีข้อจำกัด น่าจะต้องมีการปรับปรุงข้อคำถามโดยใช้งานวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อหาอาการแสดงออกหลักของคนไทยเมื่อประสบภัยพิบัติ

Keywords: สุขภาพจิต, ภาวะวิกฤติ, ประสบภัยพิบัติ, แบบคัดกรอง, สารเสพติด, ครอบครัว, ซึมเศร้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 200600049

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -