ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วันทา หวังเลี้ยงกลาง

ชื่อเรื่อง/Title: การทำกลุ่มเสริมสร้างความหวังและความมีคุณค่าในตนเองของผู้ติดเชื้อเอชไอวี

แหล่งที่มา/Source: โครงการประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 "ก้าวต่อไปในการเรียนรู้ สู่โลกแห่งนวัตกรรม",28-30 มิถุนายน 2549, ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ จ.เชียงราย

รายละเอียด / Details:

การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสของโรงพยาบาลโนนสูง ปี 2548 พบว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย 1 ราย ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ 1 ราย และจากการประเมินผลโครงการฯ โดยการประเมินความซึมเศร้าในผู้ป่วย 42 ราย พบผู้ป่วยระดับความซึมเศร้ารุนแรงที่สุด 2 ราย และระดับเด่นชัด-รุนแรง 14 ราย ได้ส่งผู้ป่วยทั้ง 16 ราย พบพยาบาลให้คำปรึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย พบว่าผู้ป่วยทั้ง 16 ราย มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้มีการประชุมปรึกษาในทีมงานและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา จึงได้นำการทำกิจกรรมกลุ่มเสริมสร้างความหวังและมีคุณค่าในตนเองของผู้ติดเชื้อ การทำกิจกรรมกลุ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีความหวังและเห็นคุณค่าในตนเอง และเพื่อลดความซึมเศร้าและความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การทำกิจกรรมกลุ่มเสริมสร้างความหวังและความมีคุณค่าในตนเองของผู้ติดเชื้อ โดยใช้คู่มือของโรงพยาบาลสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แบ่งกิจกรรมเป็น 8 ครั้ง มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ติดเชื้อฯ 42 ราย ที่ผ่านการประเมินความซึมเศร้า โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มมีผู้นำกลุ่ม 1 คน ผู้ช่วยกลุ่ม 1 คน (แกนนำผู้ติดเชื้อฯ) ระยะเวลาดำเนินกิจกรรม 45-60 นาที ลักษณะกิจกรรมเป็นการใช้กระบวนการกลุ่ม โดยมีกิจกรรมในวันพบกลุ่มและตรวจสุขภาพผู้ติดเชื้อฯ ในคลินิกพิเศษเดือนละ 1 ครั้ง การประเมินผลโดยใช้แบบประเมินความซึมเศร้า เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ แบบวัด 2 ครั้ง ในผู้ป่วยกลุ่มเดียวกัน การประเมินผลหลังทำกิจกรรมกลุ่มครบ 8 ครั้ง พบว่าไม่พบผู้ป่วยระดับความซึมเศร้ารุนแรงมากที่สุดและระดับเด่นชัด-รุนแรง 3 ราย คิดเป็น 6.9% และได้นำผลของกิจกรรมมาพัฒนางานต่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยส่งผู้ป่วย 3 ราย ที่มีระดับความซึมเศร้าเด่นชัด-รุนแรง พบพยาบาลให้คำปรึกษาเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การให้คำปรึกษา การติดตามเยี่ยมบ้านโดยแกนนำผู้ติดเชื้อฯ การแนะนำญาติผู้ป่วยเฝ้าระวังที่บ้าน เฟื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย และได้มีการกำหนดแนวทางในการเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายในผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยมีการประเมินความซึมเศร้าแก่ผู้ป่วยที่เข้าโครงการฯ รายใหม่ทุกราย มีการประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยที่มีระดับความซึมเศร้ารุนแรงมากที่สุดและระดับเด่นชัด-รุนแรง มีการให้คำปรึกษารายบุคคลแก่ผู้ติดเชื้อฯ ทุกรายที่มารับบริการในโรงพยาบาล มีการติดตามเยี่ยมบ้านโดยแกนนำผู้ติดเชื้อฯ และการแนะนำญาติผู้ป่วยเฝ้าระวังที่บ้าน

Keywords: ฆ่าตัวตาย, เอชไอวี, ซึมเศร้า, ความเสี่ยง, แบบประเมิน, ญาติ, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยเอดส์, ภาวะซึมเศร้า, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, การให้การปรึกษา, ซึมเศร้า, คุณค่าในตนเอง, ความหวัง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลเนินสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

Code: 20060005

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2549 จ.เชียงราย

Download: