ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: หอผู้ป่วยออทิสติกร่วมกับตึกหญิง 2 กลุ่มการพยาบาล สถาบันราชานุกูล

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของโปรแกรมสร้างพลังอำนาจในการรับรู้สมรรถนะการดูแลเด็กออทิสติกของผู้ปกครอง.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 97-98.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในปีงบประมาณ 2547มีเด็กออทิสติกรับไว้เป็นผู้ป่วย 1077 ราย (สถิติกรมสุขภาพจิต, 2546) กรมสุขภาพจิตตระหนักถึงความสำคัญของการขยายขอบเขตการบริการแก่เด็กออทิสติกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ครอบครัวเมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นเด็กออทิสติก ทำให้ผู้ปกครองเกิดความรู้สึกสูญเสียเกิดความไม่สมดุลระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเกิดการไม่ยอมรับ ขาดความมั่นใจในความสามารถของตนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับลูก และเมื่อพาลูกออกนอกบ้าน คนทั่วไปเห็นจะไม่รู้ว่าเด็กคนนี้ผิดปกติ โดยทั่วไปผู้ที่มีความซึมเศร้าจะมีรูปแบบความคิดทางลบต่อตนเอง เช่นไม่มีความสามารถไม่มีค่า เมื่อพบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้สูญเสียความหวังในทางตรงข้ามผู้ที่มีการรับรู้สมรรถนะของตนเองที่ดีจะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญทำให้บุคคลเกิดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองที่จะกระทำพฤติกรรมนั้นๆ ให้สำเร็จและจากประสบการณ์ทำงานของผู้วิจัยพบว่าผู้ปกครองจะดูแลเด็กไม่ต่อเนื่อง และยังมีความต้องการให้สถาบันราชานุกูลเป็นผู้ดูแลแทน โปรแกรมการสร้างพลังอำนาจ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนในการดำเนินการ ให้บุคคลเกิดความรู้สึกมั่นใจ ยึดมั่น และมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหายของตนเองและเชื่อมั่นว่าตนเองจะสามารถกระทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง (Gibson, 1995) และยังทำให้ผู้ปกครองสามารถพัฒนาสมรรถนะเชิงความรู้ ความคิด ความเข้าใจและการรู้จักตนเอง ยอมรับความเป็นจริง ควบคุมตนเอง มีความมั่นใจและพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเองได้เหมาะสม วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาการรับรู้สมรรถนะการดูแลเด็กออทิสติกของผู้ปกครอง 2.เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมสร้างพลังอำนาจในการรับรู้สมรรถนะการดูแลเด็กออทิสติกของผู้ปกครอง ขอบเขตการวิจัย ศึกษาในกลุ่มประชากรผู้ปกครองของเด็กออทิสติกอายุ 3-5 ปี ที่รับไว้เป็นผู้ป่วยในของสถาบันราชานุกูล ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการวิจัยทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองของเด็กออทิสติกอายุ 3-5 ปี ที่รับไว้เป็นผู้ป่วยในของหอผู้ป่วยออกทิสติก สถาบันราชานุกูล ปีงบประมาณ 2549 จำนวน 6 ราย เดือนเมษายน-มิถุนายน 2548 เครื่องมือทดลองคือโปรแกรมสร้างพลังอำนาจและเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 2 ส่วน คือ1. แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ปกครองเด็กออกทิสติกและข้อมูลของเด็กออทิสติก 2. แบบสอบถามการรับรู้สมรรถนะการดูแลเด็กออทิสติกของผู้ปกครองมี 5 ด้าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Wilcoxon Matched Pairs Signed Ranks Test สรุปการวิจัย ผลการวิจัยพบว่าก่อนเข้าโปรแกรม การรับรู้สมรรถนะด้านเผชิญความเครียดมีคะแนนเฉลี่ยสูงที่สุด (X=14.50) รองลงมาด้านการยอมรับในภาวะออทิซึมของเด็ก (X=13.83) และด้านการสังเกตพฤติกรรมและแก้ไขพฤติกรรมมีคะแนนเฉลี่ย (X=13.67)หลังเข้าโปรแกรมการรับรู้สมรรถนะผลการวิจัยโดยรวม พบว่าคะแนนเฉลี่ยการรับรู้สมรรถนะการดูแลเด็กออทิสติกของผู้ปกครองก่อนและหลังแตกต่างกัน Z=2.201 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 รายด้าน พบว่าด้านการสังเกตพฤติกรรมและแก้ไขพฤติกรรมมีคะแนนเฉลี่ยแตกต่างกันมากสูงกว่าทุกด้าน Z=2.233 รองลงมาด้านการดูแลเด็กออทิสติกมีคะแนนเฉลี่ยแตกต่างกัน Z=2.060 และส่วนด้านการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่มีคะแนนเฉลี่ยแตกต่างกัน Z=2.041 ตามลำดับ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Keywords: ออทิสติก, เด็ก, การดูแลสมรรถนะ, สุขภาพจิต, ครอบครัว, การยอมรับ, พฤติกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200600050

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -