ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: หอผู้ป่วยออทิสติกร่วมกับตึกหญิง 2 กลุ่มการพยาบาล สถาบันราชานุกูล

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของโปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสารต่อความสามารถในการสื่อความหมายของเด็กออทิสติกปฐมวัย.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 99-100.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ความบกพร่องของพัฒนาการด้านการสื่อสารของเด็กออทิสติกเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่สังเกตพบ และคาดหวังว่าเมื่อนำเด็กมารับการฝึกและเด็กจะมีพัฒนาการดีขึ้น รวมทั้งสามารถพูดหรือสื่อความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจได้ แต่ในสภาพความเป็นจริงถึงแม้ว่าเด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะด้านภาษาตามโปรแกรมพื้นฐานของหอผู้ป่วยออทิสติก และเริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว แต่เด็กออทิสติกส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเป็นผู้เริ่มต้นการสื่อสารได้ด้วยตนเอง บางรายพูดเลียนแบบคำพูดของคนอื่นคล้ายนกแก้วนกขุนทองที่พูดได้แต่ไม่เข้าใจความหมาย ทำให้การพูดนั้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการค้นหาวิธีการที่จะช่วยตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการเด็กออทิสติกและผู้ปกครอง หอผู้ป่วยออกทิสติกจึงได้พัฒนารูปแบบการฝึกทักษะการสื่อสารแก่เด็กออทิสติกปฐมวัย โดยนำระบบแลกเปลี่ยนภาพการสื่อสารบูรณาการมาจากแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ได้แก่ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบการวางเงื่อนไขการกระทำของสกินเนอร์ กลวิธีการรับรู้ผ่านการมองตามแนวทางระบบแลกเปลี่ยนภาพการสื่อสารของฟรอสต์และบอนดี้ (Frost&Bondy, 2002) และงานวิจัยของนุชนาถ แก้วมาตร (2547) ที่ได้นำสื่อภาพมาใช้พัฒนาความสามารถด้านการสื่อสารของเด็กออทิสติกระดับปานกลาง อายุ 10 ปี วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสารต่อความสามารถในการสื่อความหมายของเด็กออทิสติกปฐมวัย 2. เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการใช้โปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพการสื่อสารต่อความสามารถในการสื่อความหมายของเด็กออทิสติกปฐมวัย ขอบเขตการวิจัย ศึกษาในกลุ่มประชากรเด็กออทิสติกอายุ 3-5 ปี ที่รับไว้เป็นผู้ป่วยในของสถาบันราชานุกูล ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กออทิสติกอายุ 3-5 ปี ที่รับไว้เป็นผู้ป่วยในของหอผู้ป่วยออทิสติก สถาบันราชานุกูล ปีงบประมาณ 2549 จำนวน 7 ราย การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือโปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสาร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบวัดความสามารถในการสื่อสารความหมายของเด็กออทิสติกปฐมวัยก่อนและหลังจากให้โปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสาร ระยะเวลาการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2549 รวม 4 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Wilcoxon Matched Pair Signed Rank Test สรุปการวิจัย ผลการวิจัยพบว่าโปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสารมีผลต่อความสามารถในการสื่อความหมายของเด็กออทิสติกปฐมวัย และความสามารถในการสื่อสารความหมายของเด็กออทิสติกปฐมวัยดีขึ้นหลังจากเด็กได้รับโปรแกรมแลกเปลี่ยนภาพเพื่อการสื่อสาร ดังนี้ เด็ก 3 คน ผ่านเกณฑ์การประเมินและกำลังอยู่ในระหว่างการฝึกขั้นตอนที่ 6 สามารถพูดเป็นคำและเป็นประโยค 4-6 พยางค์ได้ ส่วนเด็กอีก 4 คน อยู่ในขั้นตอนที่ 4 สามารถสร้างประโยคจากภาพและแลกเปลี่ยนภาพกับสิ่งที่ต้องการได้ โดย 1 ใน 4 คนนี้ เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมาย 1-2 พยางค์ได้บ้างแล้วแต่พูดไม่ชัด

Keywords: การสื่อสาร, ออทิสติก, เด็ก, ปฐมวัย, การดูแล, สุขภาพจิต, ครอบครัว, พัฒนาการ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200600051

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -