ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นภดล วาณิชฤดี, ชลพร กองคำ, กาญจนา สุทธิเนียม

ชื่อเรื่อง/Title: โปรแกรมการค้นหาและดูแลผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลที่มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พฤติกรรมหลบหนี.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 47-48.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโปรแกรมค้นหาและดูแลผู้ป่วยจิตเวช และมาตรฐนการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาล ที่มีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตาย (suicide) พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง (Violence) พฤติกรรมหลบหนีจากโรงพยาบาล (Escape)ซึ่งเรียกว่า SVE Precaution Program โปรแกรมดังกล่าวมีความเหมาะสมกับบริบทของโรงพยาบาลจิตเวชในประเทศไทย ซึ่งมีปัญหาภาระงานมากเมื่อเทียบกับอัตรากำลังที่มีอยู่ แนวทางการศึกษาใช้หลักการวิจัยและพัฒนา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้คือผู้ป่วยที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยในทุกรายตั้งแต่ตุลาคม 2546 ถึงกันยายน 2548 จำนวน 12,112 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 1) แบบคัดกรอง SVE 2) แบบประเมินระดับความรุนแรงของ SVE 3) ใบบันทึกอุบัติการณ์ ผลลัพธ์จากการศึกษาในช่วงแรก พบว่าค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้จำนวนมากและผู้ป่วยแต่ละรายมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน แต่ต้องทำการเฝ้าระวังเท่ากัน ซึ่งขัดกับอัตรากำลังบุคลากรที่จำกัด จากจุดอ่อนในเรื่องนี้จึงนำมาพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องมือในช่วงที่สอง โดยกำหนดระดับความรุนแรงให้สอดคล้องกับมาตรการการดูแลผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ และประเมินผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น นวัตกรรมในการศึกษาครั้งนี้คือ การใช้ป้ายชื่อที่ระบุปัญหาความเสี่ยงเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างทีมสหวิชาชีพ ผลการศึกษาและพัฒนาครั้งนี้ พบว่าทำให้อุบัติการณ์ของพฤติกรรมดังกล่าวลดลง กล่าวคือ ระหว่างปี 2546-2548 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 รายในปี 2546 และค้นหาผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายได้เพิ่มขึ้นจำนวน 7, 11 และ 34 รายตามลำดับ พบว่าอุบัติการณ์ผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง จำนวน 57,58 และ 102 ราย เมื่อจำแนกตามระดับความรุนแรงในปี 2547-2548 พบว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บรุนแรงตั้งแต่เกิดบาดแผลต้องได้รับการรักษาจำนวน 35 และ 22 รายตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าผู้ป่วยหลบหนีสำเร็จในระหว่างปี 2546-2548 จำนวน 43, 20 และ 16 ราย ตามลำดับ และพบผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมพยายามหลบหนีในปีดังกล่าว จำนวน 12, 14 และ 41 ราย ตามลำดับ จากสถิติแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโปรแกรมการค้นหาและดูแลผู้ป่วยจิตเวช และผลลัพธ์เชิงคุณภาพจากการทำ Focus Group ในบุคลากรทีมสหวิชาชีพบว่า เป็นการสื่อสารที่พึงพอใจและสามารถป้องกันความเสี่ยงและให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทัน และสามารถจัดกิจกรรมได้เหมาะสมกับผู้ป่วยเพื่อลดอุบัติการณ์จากพฤติกรรม 3 ด้าน จากผลลัพธ์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ สามารถบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของระบบรายงานความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลจิตเวชได้ สรุปการศึกษาทำในลักษณะวิจัยและพัฒนาจากบริบทสภาพปัญหาของการทำงานจริง ต้องสร้างเครื่องมือค้นหา และดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีแนวโน้มเกิดพฤติกรรมฆ่าตัวตาย พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง พฤติกรรมหลบหนีจากโรงพยาบาล จากหลักฐานทางวิชาการและประสบการณ์การทำงานที่เป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในผู้ปฏิบัติงาน (Implicit Knowledge) และใช้การประเมินผลแบบง่ายแต่ชัดเจน ต้องการให้เกิดรูปธรรมในการปฏิบัติจริง อาจถือได้ว่าผลการศึกษาครั้งนี้จุดประกายความคิดให้ทีมงานและบุคลากรในโรงพยาบาลจิตเวชต่างๆ ได้ตระหนักประเมินวิเคราะห์ปัญหา และช่วยกันค้นหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากขึ้นต่อในอนาคต

Keywords: โปรแกรมค้นหา, พฤติกรรมฆ่าตัวตาย, พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง, พฤติกรรมหลบหนี, ผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต

Code: 200600052

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -