ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิภาวี เผ่ากันทรากร, จำนรรจา บำเหน็จพันธุ์, นรวีร์ พุ่มจันทร์, สุจรรยา แสงเขียวงาม

ชื่อเรื่อง/Title: โรงพยาบาลกลางวัน : มุมมองของผู้ใช้บริการ.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 160.

รายละเอียด / Details:

โรงพยาบาลกลางวัน (day hospital programme) ถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่านระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลกับการอยู่ในชุมชนของผู้ป่วย ซึ่งมีรูปแบบการรักษาในลักษณะผสมผสานความเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน และสโมสรที่ส่งเสริมให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสำคัญ โดยทีมสหวิชาชีพที่ให้การบำบัดแบบรายบุคคล รายครอบครัว และรายกลุ่มแก่ผู้ที่มีปัญหาทางจิต การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการให้บริการโรงพยาบาลกลางวัน โปรแกรมตามการรับรู้ของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษากระบวนการและรูปแบบการดำเนินงานโรงพยาบาลกลางวันโปรแกรมของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ การเลือกผู้ให้ข้อมูลเป็นแบบเฉพาะเจาะจงเป็นผู้ที่เคยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลกลางวันโปรแกรมของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาและสมัครใจเป็นผู้ให้ข้อมูล ผู้ให้ข้อมูลในเบื้องต้นมี 8 คน เป็นผู้ป่วยจำนวน 5 คน และญาติ 3 คน เป็นผู้ชาย 1 คน ผู้หญิง 7 คน มีอายุระหว่าง 15-60 ปี การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยสัมภาษณ์แบบเจาะลึกตามวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งตัวผู้วิจัยถือป็นเครื่องมือวิจัย ในการสัมภาษณ์กระทำครั้งละ 40-60 นาที ต่อ 1 คน และใช้การวิเคราะห์เนื้อหาในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการศึกษา พบว่าผู้ป่วยและญาติได้ให้ความหมายของโรงพยาบาลกลางวันเป็นโรงเรียนของการเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตอยู่ภายนอกทั้งเรื่องการควบคุมอารมณ์ พฤติกรรม การปรับตัว และกระบวนการคิดที่เปลี่ยนจากความคิดในทางลบเป็นความคิดในทางบวก กระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดจากองค์ประกอบของความสัมพันธ์ที่ได้รับจากการดูแลอย่างใกล้ชิดของพยาบาลประจำตัวหรือพยาบาลที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่ที่ให้ความเป็นกันเองที่คอยให้ความช่วยเหลือ รูปแบบการบำบัดด้วยกลุ่มบำบัด การรับประทานยา และการบำบัดครอบครัว นอกจากนี้ผู้ใช้บริการมีความต้องการให้เพิ่มจำนวนหน่วยงานและบุคลากรในการให้การดูแลบนโรงพยาบาลกลางวันโปรแกรม ข้อเสนอแนะ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นความสำคัญของพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญการบำบัดทั้งในรูปแบบรายบุคคล รายครอบครัว และรายกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคลากรให้มีความอบอุ่นพร้อมที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติได้อย่างมีคุณภาพ

Keywords: โรงพยาบาลกลางวัน, ผู้ป่วยจิตเวช, การรักษาทางจิตเวช, ชุมชน, บำบัดทางจิตเวช, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ผู้ใช้บริการ, มุมมอง, การบำบัดครอบครัว, การรับประทานยา, กลุ่มบำบัด, day hospital programme

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต

Code: 200600056

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -