ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์

ชื่อเรื่อง/Title: บูรณาการงานสุขภาพจิตชุมชนโดยพระสงฆ์เป็นแกนนำ.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 147.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในปี 2543 โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ร่วมกับสถาบันสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา จัดทำโครงการนำร่องการส่งเสริมสนุบสนุนการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน โดยพระสงฆ์เป็นแกนนำเนื่องจากพบปัญหา ผู้ป่วยกลับมารักษาซ้ำภายใน 1 ปี คิดเป็น 50% ผู้ป่วยถูกญาติทอดทิ้งให้อยู่ในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นต้องไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ และผู้ป่วยบางรายไร้ญาติ ขาดผู้อุปการะต้องไปอาศัยอยู่ที่วัด การที่ผู้ป่วยจิตเวชจะได้รับการดูแลช่วยเหลือให้สามารถอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้ ต้องได้รับการยอมรับจากชุมชน และได้รับการรักษาต่อเนื่อง จึงต้องมีผู้ดูแลที่มีความรู้และเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน โดยพบว่า ศูนย์รวมแห่งความศรัทธา เป็นที่พึงทางสังคมจิตใจของประชาชนคือวัดและพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของประชาชนในชุมชน ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นประชาคมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ป่วยจิตเวชและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนนำสู่การพึ่งตนเองต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชและประชาชนได้รับการส่งเสริมป้องกันดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจ สังคมจากพระสงฆ์ ครอบครัว และชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเพื่อลด stigma แก่ผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ พรพสงฆ์ ผู้นำชุมชน ประชาชนในชุมชน ญาติผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยจิตเวช กลวิธีการดำเนินงาน คือสร้างแกนนำในชุมชน (Core group) โดยเน้นพระสงฆ์และองค์กรชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้างประชาคมเพื่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน การดำเนินงาน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ผลลัพธ์การดำเนินงาน ผู้ป่วยไม่กลับมา readmit ภายใน 2 ปี คิดเป็น 100% ผู้ป่วยไม่กลับมา readmit ภายใน 6 ปี คิดเป็น 60.5% ผู้ป่วยสามารถอยู่กับครอบครัวและชุมชนได้ คิดเป็น 100% ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ คิดเป็น 95% ผู้ป่วยสามารถประกอบอาชีพได้ คิดเป็น 88% ไม่มีผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ในชุมชน ข้อเสนอแนะ คือการพัฒนาเป็นผลงานวิจัย และมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปสู่พื้นที่อื่นๆ

Keywords: สุขภาพจิต, พระสงฆ์, สุขภาพจิตชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช, ชุมชน, แกนนำชุมชน, ฟื้นฟูสมรรถภาพ, จิตเวช, จิตเวชชุมชน, บูรณาการ, ปัญหาสุขภาพจิต, stigma

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์

Code: 200600066

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -