ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมัย ศิริทองถาวร

ชื่อเรื่อง/Title: รูปแบบการเลี้ยงดูและพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของเด็กที่ใช้สารเสพติด

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 137-138. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความสัมพันธ์ของรูปแบบการเลี้ยงดู และพฤติกรรมเชิงจริยธรรม ของเด็กที่ใช้สารเสพติด รวมถึงศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุการใช้สารเสพติดพร้อมแนวทางการช่วยเหลือ โดยสอบถามจากกลุ่มเป้าหมายจำนวน 159 ราย ที่มารับการรักษาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ ตามโครงการ "การสร้างเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในโรงเรียน" เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามจำนวน 5 ชุด โดยให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายรายงานด้วยตนเอง ประกอบด้วย (1) ข้อมูลทั่วไป (2) แบบสอบถามเกี่ยวกับรูปแบบการเลี้ยงดูในครอบครัวของกลุ่มเป้าหมาย 4 รูปแบบ คือ แบบยอมรับ แบบควบคุม แบบละเลย แบบปกป้องมากเกินไป (3) แบบสอบถามพฤติกรรมจริยธรรม (4) แบบสอบถามสาเหตุที่ทำให้ใช้สารเสพติด (5) แบบสอบถามแนวทางการช่วยเหลือที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ โดยนำแบบสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงดูมาหาค่าความเชื่อมั่นใหม่ ได้ค่าความเชื่อมั่นตามสูตรของ Cronbach เท่ากับ 7.3 สำหรับแบบสอบถามพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งผ่านการพัฒนามาแล้ว ผลการวิจัยพบว่า ประชากรกลุ่มเป้าหมายที่มารับการรักษาเป็นนักเรียนชาย 128 คน เป็นหญิง 31 คน ระดับการศึกษาต่ำสุดคือ ประถมศึกษาปีที่ 4 คิดเป็น ร้อยละ 1.91 ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่กับบิดามารดาคิดเป็นร้อยละ 57.53 รองลงมาคืออยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย คิดเป็นร้อยละ 16.44 ที่เหลือพักอาศัยอยู่กับผู้อื่น สภาพแวดล้อมในชุมชนมีผู้เสพยาร้อยละ 42.72 และในหมู่บ้านมีการค้ายา ร้อยละ 17.32 ลักษณะการเลี้ยงดูเป็นแบบยอมรับร้อยละ 59.12 แบบควบคุมร้อยละ 25.16 แบบปกป้องร้อยละ 13.21 และแบบปล่อยปละละเลย ร้อยละ 2.52 พฤติกรรมเชิงจริยธรรม พบว่า นักเรียนชายอายุ ระหว่าง 12-15 ร้อยละ 66 และนักเรียนชายอายุ16-19 ร้อยละ 54 มีระดับจริยธรรมต่ำ นักเรียนหญิง 12-15 ปี ร้อยละ 44 และนักเรียนหญิงอายุ 16-19 ร้อยละ 36 มีระดับจริยธรรมต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่า รูปแบบการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน จะมีจริยธรรมที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบยอมรับมีระดับพฤติกรรมเชิงจริยธรรมสูงกว่าการเลี้ยงดูแบบอื่นๆ ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ประเด็นเรื่องสาเหตุของการใช้สารเสพติด พบว่ากลุ่มเป้าหมายให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องเพื่อนชักชวน รองลงมาเป็นเรื่องความแตกแยกในครอบครัว และสาเหตุด้านความผิดหวังในเรื่องส่วนตัว คิดเป็น 46.7, 20.7 และ 16.01 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของสาเหตุของการใช้ยาในกลุ่มพฤติกรรมเชิงจริยธรรมระดับต่างๆ สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมายคิดว่าบุคคลที่สามารถขอคำปรึกษา ขอการช่วยเหลือ และสามารถให้การช่วยเหลือให้เขาเลิกสารเสพติดได้ คือ มารดา เป็นอันดับหนึ่ง บิดา เป็นอันดับสอง สิ่งที่ต้องการให้ครอบครัวช่วยเหลือมากที่สุด คือเรื่องการพูดให้กำลังใจ และพาไปบำบัดรักษา คิดเป็น 91.7 และ 85.4 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่วนสิ่งที่ต้องการให้โรงเรียนช่วยเหลือ คือ การจัดครูให้คำปรึกษาไว้คอยช่วยเหลือ และการพาไปบำบัดเช่นกัน คิดเป็น 73.7 และ 64.1 เปอร์เซ็นต์

Keywords: รูปแบบการเลี้ยงดู, พฤติกรรม, เด็ก, ยาเสพติด, สารเสพติด, นักเรียน, ครอบครัว, เครือข่าย, ปัญหายาเสพติดในโรงเรียน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ (ศูนย์ส่งเสริมพัฒนการเด็กภาคเหนือ)

Code: 00000044

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -