ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรทิพย์ โพธิครูประเสริฐ, อาภรร์ สุวรรณเขษฎาเลิศ, จลี เจริญสรรพ์, นพรัตน์ ไชยชำนิ, นิรมล โกสิยพันธ์, พระประไพ แชกเต้า.

ชื่อเรื่อง/Title: การส่งเสริมและป้องกันภาวะสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 189.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นเหตุปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจปี 2540 พบปัญหาที่ตามมาคือ ความยากจน คอรัปชั่น ยาเสพติด อาชญากรรม การไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ครอบครัวแตกแยก ส่งผลต่อการกระทำผิดต่อกฎหมายเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำให้จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อผู้ต้องขังทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้นการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมและป้องกันภาวะสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำสุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมป้องกันภาวะสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในด้านความรู้ ด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของตนเอง และปรับตัวเมื่อออกไปสู่สังคมภายนอก วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเครียดของผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิต และป้องกันภาวะสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสุราษฎรานี กลุ่มเป้าหมาย ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีจำนวน 216 คน วิธีการดำเนินการ ติดต่อประสานงานเพื่อชี้แจงในการจัดกิจกรรมให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำสุราษฎร์ธานี ประเมินแบบคัดกรองระดับความเครียดในเรือนจำกลางสุราษฎร์ธานี ให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการปรับตัวสู่สังคม ผลการปฏิบัติงาน กลุ่มเป้าหมายจำนวน 216 คน ส่วนมากเป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 66.77 อายุระหว่าง 20-39 ปี ร้อยละ 61.59 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 44.90 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 49.53 ส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ระหว่าง 3,000-6,000 บาท ร้อยละ 49.53 รายได้ส่วนใหญ่ไม่พอเพียง คิดเป็นร้อยละ 71.29 จำนวนครั้งที่ญาติมาเยี่ยมส่วนใหญ่จำนวน 1-5 ครั้ง ร้อยละ 66.20 รองลงมาไม่เคยมาเยี่ยมร้อยละ 23.62 จำนวนครั้งที่ต้องโทษส่วนใหญ่ 1 ครั้ง ร้อยละ 90.74 รองลงมา 2 ครั้ง ร้อยละ 8.33 ลักษณะความปิดที่ต้องโทษส่วนใหญ่เป็นความผิดยาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 62.97 รองลงมาความผิดต่อทรัพย์ร้อยละ 14.35 ระยะเวลาที่เข้าอยู่ในเรือนจำส่วนใหญ่ 5-23 เดือน ร้อยละ 37.50 รองลงมา 24-42 เดือน ร้อยละ 20.38 และระยะเวลาที่เหลือจะพ้นโทษส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 5-23 เดือน ร้อยละ 28.70 และ 81 เดือนขึ้นไป ร้อยละ 20.84 เมื่อจำแนกตามระดับความเครียดพบว่า ส่วนมากมีระดับความเครียดปกติร้อยละ 37.96 รองลงมาเป็นระดับความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย ร้อยละ 29.17 ระดับความเครียดมาก ร้อยละ 22.22 และความเครียดระดับปานกลางร้อยละ 10.65 ข้อเสนอแนะ ควรมีการประสานงานกับผู้รับผิดชอบเพื่อกำหนดแผนในการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้ต้องขังในเรือนจำ ติดตามประเมินผลผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง เก็บข้อมูลภาวะสุขภาพจิตของผู้ต้องขังในเรือนจำ คัดเลือกกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้การดูแลช่วยเหลือ

Keywords: ภาวะสุขภาพจิต, สุขภาพจิต, ผู้ต้องขัง, การส่งเสริม, ความเครียด, เรือนจำ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: งานจิตเวชชุมชน โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 200600082

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -