ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นงลักษณ์ วรรักษ์ธนานันท์

ชื่อเรื่อง/Title: Good Model: การนำอริยสัจสี่มาใช้ในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย

แหล่งที่มา/Source: โครงการประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 "ก้าวต่อไปในการเรียนรู้ สู่โลกแห่งนวัตกรรม",28-30 มิถุนายน 2549, ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ จ.เชียงราย

รายละเอียด / Details:

ปัญหาการฆ่าตัวตายของประชากรไทยนับวันจะทวีความรุนแรงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การฆ่าตัวตาย เป็นการกระทำเพื่อปลิดชีวิตหรือจบชีวิตของตนเองโดยเจตนา เพื่อให้หลุดพ้นจากความบีบคั้นด้วยสาเหตุหรือปัญหาต่างๆ ที่ไม่อาจแก้ไขได้ ทำให้รู้สึกเป็นทุกข์และเจ็บปวดต่อปัญหาที่เกิดขึ้น (สุกมล วิภาวีพลกุล, 2543) มักรู้สึกผิด โทษตนเองมีอารมณ์ซึมเศร้า ท้อแท้ และคิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า (low self-esteem) บางรายอาจเกิดจากสารสื่อประสาทที่เกี่ยวกับอารมณ์ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยและมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุดถึงร้อยละ 15-18 (Murphy et al, 1998) จากสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย พบว่าในปี 2545 มีประชากรพยายามฆ่าตัวตายคิดเป็น 41.5 ต่อแสนประชากรและอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 7.0 ต่อแสนประชากรและเพิ่มสูงขึ้นในปี 2547 คิดเป็น 7.13 ต่อแสนประชากร (สารสนเทศ กองแผนงาน กรมสุขภาพจิต, 2547) กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะแก้ไขปัยหาดังกล่าว จึงกำหนดให้อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรเป็นหนึ่งในดัชนีวัดภาวะสุขภาพและคุณภาพของหน่วยบริการสาธารณสุข โดยกำหนดให้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรในพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยบริการลดลงเหลือไม่เกิน 7.7,7.1 และ 7.0 ต่อแสนประชากรในปี 2547, 2548 และ 2549 ตามลำดับ (กระทรวงสาธารณสุข กองแผนงาน, 2547, 2548 และ 2549) โรงพยาบาลตาคลี เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ (ซึ่งจัดเป็นเขตพื้นที่สีเหลืองที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรมากกว่า 7-14 ต่อแสนประชากร) เป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรสูง โดยพบว่าในปี 2547 และ 2548 มีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายของประชากรคิดเป็น 72.4 และ 49.3 ต่อแสนประชากรตามลำดับ และมีประชากรฆ่าตัวตายสำเร็จในปี 2547 คิดเป็น 7.7 และเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.4 ต่อแสนประชากรในปี 2548 (ทะเบียนรายงาน 506DS.และแบบรายงาน มบ.1 โรงพยาบาลตาคลี, 2547-2548) งานสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลตาคลี จึงได้ค้นหารูปแบบที่เป็นแบบอย่างที่ดี (Good Model) ในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยนำวิธีคิดแบบแก้ปัญหาตามหลักพุทธศาสนาซึ่งสืบสารจากผลไปหาเหตุ แล้วทำการแก้ไขที่ต้นเหตุ หรือที่เรียกว่า "อริยสัจสี่" ได้แก่ ทุกข์ (ผล) สมุทัย(เหตุ) นิโรธ(ผล) มรรค (เหตุ) มาพัฒนาและปรับปรุงระบบคุณภาพการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล วัตถุประสงค์/เป้าหมาย 1) พัฒนาระบบและคุณภาพการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาล 2) ลดอัตราการพยายามฆ่าตัวตายของประชากรให้เหลือไม่เกิน 33.5 ต่อแสนประชากร 3) ลดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรให้เหลือไม่เกิน 7.0 ต่อแสนประชากร สรุปผล ประสิทธิผล 1) อัตราการพยายามฆ่าตัวตายของประชากรลดลงจาก 49.3 ต่อแสนประชากรในปี 2548 เหลือ 24.4 ต่อแสนประชากรในปี 2549 (ในรอบ 8 เดือนตั้งแต่เดือน ต.ค.48-พ.ค.49) 2) อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรลดลงจาก 8.4 ต่อแสนประชากรในปี 2548 เหลือ 4.3 ต่อแสนประชากรในปี 2549 (ในรอบ 8 เดือน ต.ค.48-พ.ค.49) ผลลัพธ์และประโยชน์ที่ได้รับ 1) ผู้รับบริการกลุ่มเสี่ยงได้รับประเมินคัดกรองภาวะซึมเศร้า/เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายคิดเป็นร้อยละ 100 ของผู้ป่วยในและร้อยละ 10 ของผู้ป่วยนอก 2) ผู้มีปัญหาด้านจิตใจ/ผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้รับบริการปรึกษาช่วยเหลือร้อยละ 100 3) บุคลากรผ่านการอบรม/ฟื้นฟูความรู้เรื่องการปรึกษาช่วยเหลือผู้มีปัญหาการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 90 4) เกิดวัฒนธรรมองค์กรในการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต/การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (Holistic care) ปัจจัยแห่งความสำเร็จ 1) ผู้บริหารเห็นความสำคัญและให้ความสนับสนุนในการนำอริยสัจสี่มาใช้เป็นรูปแบบที่ดีในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย 2) มีการจัดตั้งระบบคลินิกสุขภาพจิตและจิตเวชในโรงพยาบาล ซึ่งมีผู้รับผิดชอบงานเฉพาะเป็นผู้ควบคุม กำกับ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง 3) การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เป็นพื้นฐานให้บุคลากรในโรงพยาบาลมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้มีปัญหาเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้โดยไม่รู้สึกเป็นภาระ

Keywords: อริยสัจสี่, ฆ่าตัวตาย, การฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า, โรคทางจิตเวช, โรงพยาบาลตาคลี, นครสวรรค์, พื้นที่สีเหลือง, อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ, โรคซึมเศร้า, พุทธศาสนา, อารมณ์, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ระบบคุณภาพ, การเฝ้าระวัง, good model

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

Code: 20060009

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2549 จ.เชียงราย

Download: