ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประเสริฐ ไพบูลย์รุ่งโรจน์

ชื่อเรื่อง/Title: ทัศนคติของพยาบาลในโรงพยาบาลจิตเวชภาคใต้ต่อการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 204.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในอดีตเราเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากการถูกกระทำ วิญญาณ และภูตผีปีศาจ ทำให้ผู้ป่วยและญาติเกิดความทุกข์ทรมาน กังวลใจกับการเจ็บป่วย จึงพยายามแสวงหาทางรักษาให้หายจากการเจ็บป่วยตามความเชื่อของตนเองก่อน ที่เชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากสาเหตุ 3 ประการ คือ สาเหตุจากธรรมชาติ สาเหตุผิดธรรมชาติ และสาเหตุจากอำนาจเหนือธรรมชาติ การพยาบาลทางสุขภาพจิตและจิตเวชในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยแนวคิดและหลักการดูแลเชิงวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก การเข้าใจถึงความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลจะทำให้พยาบาลสามารถให้การพยาบาลได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับวัฒนธรรมของบุคคลนั้น โดยปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการยอมรับ ทัศนคติ เพราะมีผลต่อการปฏิบัติการพยาบาล ทำให้เกิดการยอมรับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้ป่วยและญาติและสามารถให้การพยาบาลได้ตรงตามความต้องการ สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของกลุ่มคนเหล่านั้น การวิจัยครั้งนี้ศึกษาทัศนคติของพยาบาลในโรงพยาบาลจิตเวชภาคใต้ต่อการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์ จำนวน 145 ราย ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายและคำนวณสัดส่วนกลุ่มตัวอย่างในแต่ละโรงพยาบาล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามทัศนคติของพยาบาลในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ที่สร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมโดยผ่านการตรวจสอบความตรงจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และทดสอบค่าความเที่ยงของเครื่องมือโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคได้ค่าความเที่ยง เครื่องมือทั้งฉบับเท่ากับ 0.86 ผลการวิจัย พบว่าพยาบาลในโรงพยาบาลจิตเวชภาคใต้มีทัศนคติโดยรวมต่อการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในทางบวก (X=3.60, SD=0.35) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติทางบวกต่อการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนาและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา (X=3.79, SD=0.44) ด้านการใช้ยาแผนโบราณ (X=3.57, SD=0.39) และด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ผิดธรรมชาติหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ (X=3.44, SD=0.41) จากผลการศึกษาหากพยาบาลได้รับการสนับสนุนในการศึกษาองค์ความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวช มีการพัฒนาเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องและชัดเจน จะทำให้พยาบาลเกิดการยอมรับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยและญาติดีขึ้น สามารถผสมผสานการปฏิบัติการพยาบาลให้เข้ากับรูปแบบการดูแลตนเองตามวัฒนธรรมได้อย่างหมาะสม สอดคล้องกับวัฒนธรรม ความเชื่อของผู้รับบริการซึ่งเป็นการปฏิบัติ การพยาบาลกับผู้รับบริการอย่างเป็นองค์รวม

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, การดูแล, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ทัศนคติ, สุขภาพจิต, ความเชื่อ, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์

Code: 200600094

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -