ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคล

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเพื่อพัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 150. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยในปี พ.ศ. 2544 และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย แต่การศึกษาที่ผ่านมาเป็นการศึกษาประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การศึกษานี้เป็นการพัฒนาเครื่องมืออีกครั้งโดยใช้ตัวอย่างจากประชาชนทั่วทุกภาค วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย ขอบเขตของการวิจัย คือศึกษากลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมาจากประชาชน 5 ภาคของประเทศไทย ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ศึกษาความตรงตามเนื้อหา โดยการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ครั้ง ได้เครื่องมือฉบับร่าง 80 ข้อนำไปทดสอบภาษาใน 5 ภาคของประเทศโดยการทำ Focus group จำนวน 40 กลุ่ม และทดลองใช้เครื่องมือ 120 ชุด จากนั้นปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือ ระยะที่ 2 ศึกษาความตรงตามโครงสร้างครั้งที่ 1 โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2,024 คน (ขนาดตัวอย่างโดยคำนวณจากสูตร) จาก 5 ภาค คือ ภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แบ่งประชากรออกเป็นเขตเทศบาล และเขตชนบท จำแนกออกเป็นจังหวัดที่มีรายได้ร่ำรวย ปานกลาง ยากจน สุ่มตัวอย่างแบบ Multistage Random Sampling ระยะที่ 3 ศึกษาความตรงตามโครงการสร้างครั้งที่ 2 และหาค่าปกติ (Norm) ของคนไทย ขนาดตัวอย่าง 2,400 คน วิธีการสุ่มตัวอย่างเช่นเดียวกับการศึกษาระยะที่ 2 ใช้เวลาในการศึกษาทั้ง 3 ระยะตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545-มิถุนายน 2546 ใช้สถิติเชิงบรรยาย Factor analysis, Kappa statistic, Cronbach's alpha Coefficient ผลการศึกษา จากการศึกษาระยะที่ 1-2 ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยประกอบด้วย 4 Domain คือ 1. Mental state 2. Mental capacity 3. Mental quality 4. Supporting factors ประกอบด้วย 21 Subdomain มีคำถามในการศึกษาระยะที่ 2 เหลือ 73 ข้อ สำหรับผลการศึกษาในระยะที่ 3 จะนำเสนอดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์ และฉบับสั้น ค่าปกติ (Norm) ของเครื่องมือทั้งสองฉบับ ซึ่งแบ่งออกเป็นสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไปสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป และสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป ตลอดจนค่าความสอดคล้อง (Agreement) ในการประเมินภาวะสุขภาพจิตระหว่างดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสมบูรณ์และฉบับสั้น สรุปผลการวิจัย แบบประเมินดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย สามารถนำไปประเมินภาวะสุขภาพจิตของรายบุคคลและกลุ่มบุคคลเพื่อทราบถึงสภาวะสุขภาพจิตของตนเอง หน่วยงานหรือชุมชนและการให้การช่วยเหลือตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การใช้เครื่องมือนี้ประเมินภาวะสุขภาพจิตควรดำเนินการห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

Keywords: ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิต, สุขภาพจิตคนไทย, ดัชนี, สุขภาพจิต, ความตรงตามเนื้อหา, ความตรงตามโครงสร้าง, แบบประเมิน, แบบประเมินสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000046

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -