ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นุสรา งามเดช, พเยาว์ พงษ์ศักดิ์ชาติ, สุจิรา เหลืองพิกุลทอง และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: ความสุขของนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 98.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสุขของนักศึกษาพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี เกี่ยวกับความหมายของสุขวิธีการแสวงหาความสุขและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุขตามความคิดและการรับรู้ของนักศึกษาพยาบาล ศึกษาโดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก, การสนทนากลุ่ม การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมกับนักศึกษาพยาบาลหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตชั้นปีที่ 1-4 ปีการศึกษา 2547-2548 จำนวน 77 คน จาก 267 คน ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มระดับความสุขจากการทำแบบวัดความสุข ซึ่งแบ่งระดับความสุขออกเป็น 3 ระดับ ทำการสนทนากลุ่ม 10 กลุ่ม สัมภาษณ์เชิงลึกครั้งละ 1-1 1/2 ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพตามวิธีของโคไลซี ผลการศึกษา นักศึกษาพยาบาลให้ความหมายของความสุขในมิติของการมีความรู้สึกทางบวกปราศจากความรู้สึกทางลบ การมีสุขภาพกายที่สมบูรณ์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลใกล้ชิด การได้บรรลุถึงเป้าหมายทางการเรียนการแสงหาความสุขของนักศึกษาพยาบาล เป็นไปอย่างเรียบง่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน และรับรู้ว่าการแสวงหาความสุขของตนมีผลกระทบทั้งทางด้านบวกและลบต่อตนเองและผู้อื่น ปัจจัยที่มีผลต่อความสำคัญมากที่สุดคือ 1) ความสัมพันธ์กับเพื่อนและอาจารย์ 2) การบรรลุเป้าหมายในการเรียน 3) สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ 4) การได้ทำกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลาย 5) เศรษฐกิจ และ 6) ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความทุกข์ที่นักศึกษาให้ความสำคัญมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1) การเรียน 2) ความมีอิสรภาพในการคิดและกระทำ และ 3) ความสัมพันธ์กับเพื่อน รุ่นพี่และอาจารย์นักศึกษาพยาบาลเสนอแนวทางในการสร้างความสุขในวิทยาลัยว่าเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาเอง อาจารย์ผู้บริหารวิทยาลัยฯ และบุคลากรทุกคน โดยสานความสัมพันธ์ที่ดีใกล้ชิดและจัดสิ่งแวดล้อมในวิทยาลัยที่ก่อให้เกิดความสุข สรุป นักศึกษาพยาบาลรับรู้ว่าตนเองมีความสุขเมื่อมีความรู้สึกที่ดีไม่มีเรื่องวิตกกังวลหรือตึงเครียด สิ่งที่มีผลต่อความสุขของนักศึกษาพยาบาลฯ มากที่สุด คือ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อน รุ่นพี่และอาจารย์ แม้นักศึกษาจะบอกว่าตนเองมีความทุกข์เรื่องการเรียนแต่ความทุกข์นั้นจะกลายเป็นความสุขเมื่อพวกเขาได้บรรลุเป้าหมายทางการเรียน ผลการวิจัย ได้ข้อบ่งชี้ว่า การส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดความสุขจะส่งผลให้เกิดพลังในการเรียน และทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในชีวิต แต่ขณะเดียวกันควรหาวิธีการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดความสุขเพื่อที่จะทำให้นักศึกษาบรรลุเป้าหมายทางการเรียน และควรส่งเสริมการแสวงหาความสุขจากปัจจัยภายในตนเองอันเป็นความสุขทางจิตวิญญาณเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะมีความสุขอย่างแท้จริง

Keywords: ความสุข, นักศึกษาพยาบาล, ความเครียด, ความวิตกกังวล, สุขภาพจิต, แบบวัดความสุข

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี.

Code: 2007000102

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: