ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เสาวภา ปานเพชร, วันดี สุทธรังสี, ถนอมศรี อินทนนท์.

ชื่อเรื่อง/Title: ประสบการณ์การจัดการความเครียดบนพื้นฐานหลักอริยสัจ 4 ของพยาบาลจิตเวช.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 102.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ การพยาบาลจิตเวชเป็นศิลปะอันละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องทางจิตใจ พยาบาลต้องใช้ตนเองเป็นสื่อในการบำบัด จึงต้องใช้ความรู้ความสามารถตามหลักวิชาการ และอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรหลายสาขา รวมทั้งดำเนินงานตามนโยบายขององค์กร ลักษณะงานดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเครียด เนื่องจากพุทธศาสนาผสมผสานอยู่ในวิถีของคนไทยมาช้านาน และมีเป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การดับทุกข์ หลักธรรมที่กล่าวถึงการดับทุกข์ที่ชัดเจน คือ หลักอริยสัจ 4 เนื่องจาก เป็นระบบการแก้ปัญหาที่มีทั้งหลักวิชาการ และวิธีการปฏิบัติ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่าพยาบาลจิตเวชมีประสบการณ์การจัดการความเครียดบนพื้นฐานหลักอริยสัจ 4 อย่างไร วัตถุประสงค์1). ศึกษาความหมายของหลักอริยสัจ 4 และเหตุผลที่พยาบาลจิตเวชนำมาใช้ในการจัดการความเครียด และ 2). ศึกษาประโยชน์ของอริยสัจ 4 และผลจากการนำหลักอริยสัจ 4 มาใช้ในการจัดการความเครียดของพยาบาลจิตเวช วิธีการศึกษา การวิจัยเชิงคุณภาพ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้จากพยาบาลจิตเวชในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งในภาคใต้ จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบสัมภาษณ์ประสบการณ์การจัดการความเครียดบนพื้นฐานหลักอริยสัจ 4 ของพยาบาลจิตเวช ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์โดยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) ผลการศึกษา ผู้ให้ข้อมูลบอกความหมายของอริยสัจ 4 ว่าเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันและเป็นความจริงของชีวิตโดยมีเหตุผลที่นำมาใช้ในการจัดการความเครียด 3 ประการ ได้แก่ 1) มีความเครียด หรือมีความทุกข์ 2) มีประสบการณ์ที่ดีต่อการใช้หลักอริยสัจ 4 และ 3) เป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำในจิตใจของชาวพุทธ สรุปผลการศึกษา เหตุผลที่นำหลักอริยสัจ 4 มาจัดการความเครียด 3 ประการ คือ 1) มีความเครียดหรือทุกข์ เมื่อรู้ว่าเครียด 2) เป็นความจริงของชีวิตที่ประจำอยู่ในจิตใจ และ 3) สามารถทำได้เป็นเหตุเป็นผลประยุกต์ ใช้ได้กับสถานการณ์ในชีวิตได้จริง ประโยชน์ของหลักอริยสัจ 4 ดังนี้ 1) เป็นแนวปฏิบัติที่ง่ายต่อการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต 2) ปฏิบัติตามแล้วสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และ 3) เป็นเครื่องมือยึดเหนี่ยวจิตใจ ข้อเสนอแนะ นำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเป็นแบบสอบถาม เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิจัย การจัดการความเครียดบนพื้นฐานหลักอริยสัจ 4 ในวงกว้างต่อไป และพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีการผสมผสานแนวคิดหลักอริยสัจ 4 และมีการวิจัยติดตามผล

Keywords: ความเครียด, หลักอริยสัจ 4, การจัดการความเครียด, พยาบาลจิตเวช, สุขภาพจิต, พยาบาล, เครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

Code: 2007000105

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: