ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จลี เจริญสรรพ์, พรทิพย์ โพธิครูประเสริฐ, นิรมล โกสิยพันธ์ และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: แนวปฏิบัติการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตกรณีภัยพิบัติจากธรรมชาติ : ระยะฟื้นฟูหลังปิดศูนย์ฟื้นฟูทางจิตใจ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 104.

รายละเอียด / Details:

หลังจากเกิดภัยพิบัติผู้ประสบภัยรวมทั้งชุมชนมีปฏิกิริยาทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมแตกต่างกันแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นการช่วยเหลือหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประสบภัยพิบัติ จึงแตกต่างกัน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้แบ่งการช่วยเหลือเป็น 4 ระยะ ดังนี้ 1) ระยะเตรียมการ 2) ระยะวิกฤต และระยะฉุกเฉิน 3) ระยะหลังได้รับผลกระทบ 4) ระยะฟื้นฟู การดำเนินงานทุกระยะกรมสุขภาพจิตได้จัดทำแนวปฏิบัติการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตไว้แล้ว แต่ระยะฟื้นฟูหลังศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิตยุติให้บริการในพื้นที่ การปฏิบัติงานในระยะนี้ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติ ดังนั้นศูนย์วิกฤตสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานจากบทเรียนของทีมปฏิบัติงานหลังปิดศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิต อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งมีการดำเนินงานดังนี้ 1. ขั้นเตรียมการ ได้แก่ 1) ทีม ทีมช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัย ซึ่งแต่ละวิชาชีพมีบทบาทดังนี้ แพทย์ ทบทวนกิจกรรมการรักษา พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา วิชาชีพละ 1 คน ออกปฏิบัติงานในพื้นที่ เภสัชกรเตรียมยาตามแผนการรักษาของแพทย์ 2) วัน เวลา สถานที่ ทีมสหวิชาชีพออกปฏิบัติงานเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน ณ อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี และ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 3) อุปกรณ์เวชภัณฑ์ รายงาน ได้แก่ OPD card แบบฟอร์มต่างๆ 4) ระเบียบปฏิบัติ 2. ขั้นดำเนินการมีกิจกรรม ดังนี้ 1) ทบทวนการรักษาก่อนออกปฏิบัติงาน ทีมสหวิชาชีพประชุมปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการรักษาผู้รับบริการที่นัด 2) ให้บริการตามนัด กรณีผู้ป่วยมาตามนัดให้การดูแลช่วยเหลือตามบทบาทของแต่ละวิชาชีพ ตามสภาพปัญหาของผู้รับบริการ กรณีผู้รับบริการไม่มาตามนัดติดตามที่บ้าน 3) การยุติบริการ กรณีผู้รับบริการสามารถยุติบริการได้ก่อนยุติบริการต้องประเมิน 4 อาการ คือ ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย PTSD โดยใช้แบบสัมภาษณ์ m.i.n.i การใช้สารเสพติด โดยใช้แบบคัดกรอง audit 4) ระบบส่งต่อ ทุกรายที่ยุติบริการต้องเขียน บส.08 ส่งต่อให้เครือข่ายเพื่อการดูแลต่อเนื่อง 5) การเฝ้าระวังติดตามหลังส่งต่อโดยติดตามทางโทรศัพท์ในระยะเวลา 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี 5) ระบบรายงาน หลังสิ้นสุดให้บริการลงบันทึกในแบบฟอร์ม dmh1 dmh2 และทะเบียน ส่งรายงานให้กรมสุขภาพจิต และผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในพื้นที่ 3. ขั้นติดตามและประเมินผล จำนวนผู้รับบริการ 66 คน พบว่า มีอาการซึมเศร้า ร้อยละ 6.06 มีความคิดฆ่าตัวตายระดับปานกลางร้อยละ 1.52 ptsd คะแนนมากกว่า 51 ร้อยละ 1.52 การใช้สารเสพติดเสี่ยงสูงหรือติดแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.52 มีความวิตกกังวลร้อยละ 10.61 ข้อเสนอแนะ กรมสุขภาพจิต น่าจะนำบทเรียนที่ได้ไปพัฒนาแนวปฏิบัติช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสำหรับบุคลากรสังกัดกรมสุขภาพจิต และสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง

Keywords: กรมสุขภาพจิต, ภัยพิบัติธรรมชาติ, ภาวะซึมเศร้า, ฆ่าตัวตาย, การใช้สารเสพติด, ความวิตกกังวล, ภัยพิบัติ, สหวิชาชีพ, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์.

Code: 2007000107

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: