ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สกุลรัตน์ จารุสันติกุล, วรวรรณ หนึ่งด่านจาก, อธิวัฒน์ บุตรดาบุตร.

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติดระดับสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน เขตตรวจราชการที่ 10 และ 12.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 105.

รายละเอียด / Details:

สืบเนื่องภารกิจหลักของศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 ในการสนับสนุนด้านวิชาการสุขภาพจิตแก่เครือข่าย ผลสำรวจความต้องการและการนิเทศงาน พบว่าบุคลากรสาธารณสุขที่ปฎิบัติงานในสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน (สอ./ศสช.) ยังมีความต้องการพัฒนาด้านความรู้และการจัดระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติดอยู่ ดังนั้นในปีงบประมาณ 2549 ศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 จึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรเป้าหมายให้มีความรู้ และแนวทางการดำเนินงานสุขภาพจิตและยาเสพติดแบบบูรณาการ และมีการพัฒนาระบบบริการให้ได้ตามมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด การดำเนินโครงการประกอบด้วย 1) การพัฒนาชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง จำนวน 4 เรื่อง คือ การศึกษาและวิเคราะห์ชุมชนเชิงจิตวิทยา การสัมภาษณ์ทางสุขภาพจิตและจิตเวช แบบประเมินและคัดกรองด้านสุขภาพจิตในชุมชน และปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชที่พบบ่อยในชุมชน 2) การสัมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อปฐมนิเทศผู้ร่วมโครงการ 3) การเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้ร่วมโครงการ 4) การสนับสนุนงบประมาณให้กับ สอ./ศสช. ที่พร้อมในการพัฒนาระบบบริการ จำนวน 34 แห่ง ผลการดำเนินงานพบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ประเมินชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง อยู่ในระดับดี กลุ่มเป้าหมายมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 สอ./ศสช. ที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 70 ประเมินตนเองว่ามีระบบบริการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของกรมสุขภาพจิต บทเรียนที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ คือ 1) ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองควรพัฒนาเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มเนื่องจากเป็นภารกิจหลักของ สอ./ศสช. 2) การถ่ายทอดความรู้ด้วยการให้เรียนรู้ด้วยตนเองยังไม่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่การจัดอบรม โดยมีวิทยากรบรรยายยังมีความจำเป็น 3) การดำเนินบทบาทสนับสนุนให้ สอ./ศสช. ดำเนินงานสุขภาพจิตด้านส่งเสริมป้องกัน ควรเน้นหนักในเชิงกระบวนการด้วยการเป็นพี่เลี้ยงและให้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงของแต่ละพื้นที่ 4) นักวิชาการของศูนย์สุขภาพจิตนอกเหนือจากมีความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชแล้วจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีความเข้าใจในเรื่องโครงสร้างระบบบริการสุขภาพแต่ละระดับ ยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของหน่วยงานระดับต่างๆ รวมถึงบทบาทการเป็นผู้เอื้ออำนวย ผู้ประสานประโยชน์และทักษะการสื่อสารที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ 5) การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายระดับ สอ./ศสช. ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะผู้รับผิดชอบงานเท่านั้น เนื่องจากบุคลากร 1 คน มักรับผิดชอบงานหลายด้านพร้อมกัน อาจมีความจำเป็นว่าต้องพัฒนาให้ครอบคลุม 100% ซึ่งจะมีข้อดีคือแม้จะมีการย้าย/เปลี่ยนงานก็มีความรู้สุขภาพจิตอยู่กับตัว

Keywords: สุขภาพจิต, จิตเวช, ยาเสพติด, การพัฒนาระบบบริการ, ระบบบริการสุขภาพจิต, สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: ศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 จ.ขอนแก่น.

Code: 2007000108

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: