ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตและกลไกทางจิตของผู้ต้องขัง

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 151-152. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพจิต กลไกทางจิต ความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับการใช้กลไกทางจิตเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิต กลไกทางจิตกับลักษณะทางประชากรและสังคม และเปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิต กลไกทางจิตกับคดีของผู้ต้องขัง วิธีการศึกษา ศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศ จำนวน 5,303 คน เป็นผู้ต้องขังชาย 4,313 คน ผู้ต้องขังหญิง 990 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธี Stratified systematic random sampling เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินสภาวะสุขภาพจิต โดยใช้ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยของอภิชัย มงคล และคณะ (2544) ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .93 และแบบสอบถามกลไกทางจิต DSQ-40 ฉบับภาษาไทยของ ชัยยศ จิตติรังสรรค์ (2544) ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .84 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่ามัธยฐาน Chi-Square Test, Kruskal-Wallis Test และ Correlation Coefficient Test ผลการศึกษา พบว่า สุขภาพจิตของผู้ต้องขังส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าคนทั่วไป (ร้อยละ 55.8) มีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature defenses บ่อยที่สุด รองลงมาใช้กลไกทางจิตในแบบ Neurotic defenses และ Immature defenses ตามลำดับ สุขภาพจิตผู้ต้องขังมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการใช้ กลไกทางจิตในระดับโดยที่ระดับความสัมพันธ์ ของ Mature defenses (r=.26, p‹.001 และ r=.13, p<.001 ตามลำดับ) และ มีความสัมพันธ์ทางลบกับการใช้กลไกทางจิต Immature defenses ในระดับต่ำ (r=-.10,p<.001) กลุ่มผู้ต้องขังที่มีอายุน้อยกว่าและกลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่ำมีความชุกของสุขภาพจิตต่ำกว่าคนปกติมากกว่ากลุ่ม ผู้ต้องขังที่มีอายุ และระดับการศึกษาสูง นักโทษเด็ดขาด ผู้ต้องขังที่ต้องโทษครั้งแรก และผู้ต้องขังที่มีคดีเดียวมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา ผู้ต้องที่ต้องโทษมากกว่าหนึ่งครั้งและผู้ต้องขังที่มีหลายคดี ผู้ต้องขังหญิงมีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses, Neurotic Defenses และ Immature Defenses บ่อยกว่าผู้ต้องขังชาย ผู้ต้องขังสูงอายุมีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses, Neurotic Defenses สูงกว่าผู้ต้องขังที่มีอายุต่ำกว่าผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses สูงกว่าผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษาต่ำกว่า ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่รู้หนังสือใช้กลไกทางจิตแบบ Neurotic Defenses สูงกว่าผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษา ผู้ต้องขังที่ต้องคดีมากกว่าหนึ่งครั้งมีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses ต่ำกว่าผู้ต้องขังที่ต้องคดีครั้งแรก ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สภาวะสุขภาพจิตและการใช้กลไกทางจิตของผู้ต้องขัง ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมสภาวะสุขภาพจิตและการใช้กลไกทางจิตแก่ผู้ต้องขังให้มีสภาวะสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งสามารถใช้กลไกทางจิตได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

Keywords: ผู้ต้องขัง, สุขภาพจิต, นักโทษ, เรือนจำ, กลไกทางจิต, แบบประเมิน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000047

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -