ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัชรี คำธิตา, อัมพวรรณ ถากาศ, ชนากานต์ แสงสิงห์ชัย.

ชื่อเรื่อง/Title: รูปแบบการดูแลและช่วยเหลือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำ โดยกระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางใจ.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 109.

รายละเอียด / Details:

ภาวการณ์การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสังคมที่มีความสำคัญและเป็นปัญหาของคนทั่วโลก นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยมีอัตราฆ่าตัวตายโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2547 ประมาณ 4,500-5,000 คนต่อปี หรือ 6.9 ต่อแสนประชากร จากข้อมูลปัญหาการฆ่าตัวตายของประชากรอำเภอแม่ทา ปี 2549 พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตาย 16.81 ต่อแสนประชากร ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาทะเลาะกับคนใกล้ชิดและน้อยใจคนใกล้ชิด ร้อยละ 42.46 กระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางใจเป็นกระบวนปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย ให้สามารถฟื้นตัวขึ้นจากประสบการณ์ที่ยุ่งยากรุนแรง เป็นการพัฒนาระบบความคิด การแสดงออก การกระทำที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาขึ้นได้ในทุกคน วัตถุประสงค์ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการดูแลช่วยเหลือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำ โดยกระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางใจ วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ศึกษาในกลุ่มประชากรที่มีประวัติการพยายามฆ่าตัวตายตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในพื้นที่อำเภอแม่ท่า จำนวน 8 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ ข้อมูลทั่วไป แบบวัดคุณภาพชีวิต (WHO QOL-BREF) ฉบับภาษาไทย แบบสำรวจภาวะซึมเศร้า แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง แบบวัดความสุข และแบบตรวจสุขภาพจิต ดำเนินการศึกษาโดยการใช้กระบวนการกลุ่ม ดำเนินการกลุ่มโดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เข้ากลุ่ม 3 เดือน ๆ ละ 1-2 ครั้งๆ 3 วัน ดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนพฤษภาคม 2549-กรกฎาคม 2550 ผลการศึกษา กระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางใจ มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1. การสร้างความรู้สึกดีต่อตนเอง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ 2. ความรู้สึกและความสามารถในการจัดการตัวเอง และปัญหาในชีวิตได้ มีความเชื่อมั่นและทักษะในการจัดการอารมณ์ สามารถสร้างความสุข ให้กับชีวิตของตนเอง 3. การมีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน การมีความสามารถในการสื่อสาร และสร้างความสัมพนธ์ที่ดี 4. การมีจุดมุ่งหมายในชีวิต หลังการใช้กระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายซ้ำ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง ปรับกระบวนความคิดของตน มีทักษะในการเผชิญปัญหา และที่สำคัญมองเห็นคุณค่าในตนเอง ส่งผลให้ไม่มีการฆ่าตัวตายซ้ำหรือฆ่าตัวตายสำเร็จ ข้อเสนอแนะ ควรมีการพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขให้มีองค์ความรู้เรื่องกระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางใจ เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย อันจะส่งผลให้เกิดการดูแลช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดการฆ่าตัวตายสำเร็จในเวลาต่อมา

Keywords: ฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, การดูแลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย, ปัญหาการฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลแม่ท่า จังหวัดลำพูน.

Code: 2007000112

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: