ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิเชษฐ์ อุดมรัตน์, สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล, มาโนช หล่อตระกูล และคณะ.

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัจจัยเสี่ยงโรคซึมเศร้าของคนไทย ปี 2549.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 110-111.

รายละเอียด / Details:

จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยปี พ.ศ. 2546 ประมาณการว่าประชากรไทยอายุ 15-59 ปี จำนวน 1.2 ล้าน เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ในจำนวนนี้ 871,700 คน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง และ 321,300 คน ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง จากข้อมูลกล่าวมาจะเห็นว่าโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การดำเนินงานจะมีประสิทธิผลได้นั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าซึ่งยังไม่มากนัก และที่ได้ยังมีความแตกต่างกันจากระเบียบวิธีการวิจัย รวมทั้งเป็นการศึกษาในต่างประเทศ ดังนั้นการศึกษาปัจจัยเสี่ยงโรคซึมเศร้าในคนไทย จะสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้สำหรับการป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังการเกิดโรคซึมเศร้าของคนไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าของคนไทยในปี 2549 วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงวิเคราะห์ แบบ Matched, Case-control study, Hospital-Based เฉพาะคนไทยที่มารับบริการใน 5 โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยในแต่ละภาค (กทม./เหนือ/ใต้/ตะวันออกเฉียงเหนือ) อายุ 18-59 ปี จำนวน 400 ราย แบ่งเป็นโรงพยาบาลละ 80 ราย เป็นกลุ่มศึกษา 40 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบ 40 ราย เกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ป่วยเข้าเป็นกลุ่มศึกษา ได้แก่ รายใหม่ที่มารับบริการในคลินิกจิตเวชด้วยโรคซึมเศร้า ตามการวินิจฉัยด้วย DSM-IV โดยจิตแพทย์/ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเก่าที่มีอาการระหว่าง 1 มกราคม- 31 ธันวาคม 2549 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีโรคร่วมโรควิตกกังวล/โรคซึมเศร้าเรื้อรัง รวมทั้งยินยอมเข้าร่วมการวิจัย สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยหลักเป็นโรคจิตเวชอื่น รวมทั้งผู้ป่วยโรคจิตจากการใช้สารเสพติด และผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางกายรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ครบตามขั้นตอนการวิจัยจะถูกคัดออกจากการศึกษาในครั้งนี้ ส่วนกลุ่มที่นำมาเปรียบเทียบเป็นคนไทยที่มารับบริการในโรงพยาบาลเดียวกับกลุ่มศึกษาที่ไม่ใช่คลินิกจิตเวช มีเพศเดียวกันและอายุใกล้เคียงกับกลุ่มศึกษา (+ / - 1ปี) รวมทั้งไม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่นๆ จากการประเมินด้วยแบบสัมภาษณ์เชิงโครงสร้างเพื่อวินิจฉัยโรคจิตเวช M.I.N.I. การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละและค่าเฉลี่ย ส่วนการหาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มศึกษาและกลุ่มเปรียบเทียบด้วย Univariate analysis และ Multivariate analysis ผลการศึกษา กลุ่มศึกษา 183 รายและกลุ่มเปรียบเทียบ 156 ราย โดยพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 71.0 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า ได้แก่ 1) เหตุการณ์ความเครียดในชีวิต: มีโรคประจำตัวรุนแรง (OR=4.13, 95% CI=2.54-6.75) ได้รับอุบัติเหตุรุนแรง (OR=3.69, 95% CI=1.74-7.97) ถูกหักหลังหรือถูกหลอกลวง (OR=3.7, 95% CI=2.10-6.54) เลิกคบกับเพื่อนสนิท (OR=4.51, 95% CI=2.31-8.94) เลิกกับคนรัก/สามี/ภรรยา (OR=6.65, 95% CI=1.83-28.62) ตกงาน/สอบตก (OR=3.49, 95% CI=1.91-6.45) มีคดีความ (OR=3.37, 95% CI=1.34-8.84) ถูกลวนลามทางเพศ (OR=9.88, 95% CI=2.81-41.43) 2) ประสบการณ์ในวัยเด็ก : การถูกทำร้ายทางร่างกายจากคนอื่น (OR=4.52, 95% CI=1.72-12.54) การถูก ทำร้ายทางร่างกายจากคนในครอบครัว (OR=5.37, 95% CI=2.58-11.42) ถูกพ่อ/แม่ดุด่าทุกวัน (OR=4.24, 95% CI=2.07-8.83) พี่/น้องเคยพยายามฆ่าตัวตาย (OR=4.85, 95% CI=1.30-21.39) พี่/น้องใช้ยาเสพติด (OR=4.34, 95% CI=1.76-11.19) พี่/น้องถูกกักขัง/คุมขัง/จำคุก (OR=15.87, 95% CI=2.19-323.82) มีปัญหาการเรียน (OR=4.73, 95% CI=2.37-9.56) พ่อ/แม่ใช้สารเสพติด (OR=5.13, 95% CI=2.23-12.44) พ่อ/แม่ป่วยทางจิต (OR=28.00, 95% CI=4.00-560.07) 3) ปัจจัยทางสภาพจิตสังคม : เพื่อนสนิท/ญาติไม่ไว้วางใจ (OR=4.59, 95% CI=2.13-10.15) มีเหตุการณ์อยากทำร้ายตนเอง (OR=25.18, 95% CI=11.56-56.58) คิดถึง การฆ่าตัวตาย (OR=21.78, 95% CI=10.58-45.87) มีแผนที่จะฆ่าตัวตาย (OR=47.70, 95% CI=11.18-287.23) เคยพยายามฆ่าตัวตาย (OR=24.27, 95% CI=7.11-99.42) ข้อเสนอแนะ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นเหตุการณ์ความเครียดในชีวิต ประสบการณ์ที่ไม่ดีในวัยเด็ก ปัญหา/พฤติกรรมของพ่อแม่และบุคคลในครอบครัวรวมทั้งปัจจัยทางสภาพจิตสังคมเป็นปัจจัยที่มีความเป็นไปได้สูงในการเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคซึมเศร้า ดังนั้นประชาชนที่มีปัญหาด้านดังกล่าว ควรได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า และควรนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปใช้สำหรับพัฒนาการป้องกันแก้ไขและเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าให้มีประสิทธิภาพต่อไป

Keywords: โรคซึมเศร้า, ปัจจัยเสี่ยง, เศร้า, ระบาดวิทยา, จิตเวช, โรคจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

Code: 2007000113

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: