ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริขวัญ ตัณฑ์ไพบูลย์.

ชื่อเรื่อง/Title: การปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จังหวัดนครปฐม.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 112.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ระดับความรู้ในเรื่องสุขภาพจิตชุมชน ความตระหนักในบทบาทการส่งเสริมงานสุขภาพจิตชุมชน ความตระหนักในความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชน การได้รับการสนับสนุนทางสังคม และการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดนครปฐม 2) เปรียบเทียบการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำแนกตามอายุ ระดับการศึกษา อาชีพหลัก รายได้ต่อปีของครอบครัว ระยะเวลาการเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และตำแหน่งทางสังคม 3) เพื่อศึกษาความรู้ในเรื่องสุขภาพจิตชุมชน ความตระหนักในบทบาทการส่งเสริมงานสุขภาพจิตชุมชน ความตระหนักในความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชน การได้รับการสนับสนุนทางสังคม เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดนครปฐม กลุ่มตัวอย่าง เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดนครปฐม จำนวน 324 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และการวิเคราะห์ ถดถอย พหุคูณตามลำดับความสำคัญของตัวแปรที่นำเข้าสมการ (Stepwise Multiple Regression Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1. ความรู้ในเรื่องสุขภาพจิตชุมชน และการได้รับการสนับสนุนทางสังคม ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนความตระหนักในบทบาทการส่งเสริมงานสุขภาพจิตชุมชน ความตระหนักในความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในชุมชนและการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน อยู่ในระดับมาก 2. การปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อจำแนกตามอายุ และระดับการศึกษามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อจำแนกตามระยะเวลาการเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 เมื่อจำแนกตามอาชีพหลัก รายได้ของครอบครัวต่อปีและตำแหน่งทางสังคม ไม่พบความแตกต่าง 3. การได้รับการสนับสนุนทางสังคม และความตระหนักในบทบาทการส่งเสริมงานสุขภาพจิตชุมชนสามารถ ร่วมกันทำนายการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ร้อยละ 60.6 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001

Keywords: สุขภาพจิตชุมชน, องค์การบริหารส่วนตำบล, สุขภาพจิต, นครปฐม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: องค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดนครปฐม.

Code: 2007000114

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: